เมื่อวันที่ 12-13 มิถุนายน ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายการทำงานด้านสังคม จัดงานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้หัวข้อ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ “Voice of the voiceless: the vulnerable populations” โดยภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ทั้งนิทรรศการ การประชุมแลกเปลี่ยนบทเรียนการทำงานในประเด็นย่อย การมอบรางวัลเพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ทำงาน และจบด้วยการร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เพื่อมุ่งสู่การส่งเสริมสุขภาวะและความเป็นธรรมทางสุขภาพของประชากรกลุ่มเฉพาะ ทั้ง 8 กลุ่ม ได้แก่ คนพิการ คนไร้บ้าน ผู้สูงอายุ ผู้หญิง ผู้ต้องขัง กลุ่มแรงงาน ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลหรือกลุ่มประชากรข้ามชาติ และกลุ่มชาวมุสลิม ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง และได้รับผลประทบจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากที่สุด
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ กล่าวถึงความรู้สึกในฐานะของผู้จัดงานในครั้งนี้ว่า รู้สึกยินดีมากที่ สสส. ได้เป็นองค์กรที่เปิดพื้นที่ให้ประชากรกลุ่มเฉพาะได้ส่งเสียงไปถึงสังคมโดยรวมให้ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และการมีตัวตนของคนชายขอบ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อาจจะพ่ายแพ้จากระบบเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน ที่นับวันความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะยิ่งถ่างออกกว้างขึ้นเรื่อยๆ สสส. จึงต้องการดึงคนกลุ่มนี้มาพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง และมีพลังที่จะไปช่วยผู้อื่นในสังคมต่อไป
นายเพิ่มศักดิ์ อินทสโร ผู้อำนวยการศูนย์บริการคนพิการ จังหวัดพะเยา 1 ใน 11 เจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับรางวัลขวัญใจภาคประชาสังคม ได้กล่าวขอบคุณที่ สสส.และภาคีเครือข่ายได้จัดพิธีมอบรางวัลเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ที่พยายามอย่างเต็มความสามารถในการส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงสิทธิ์ของคนชายขอบของสังคม อย่างเช่นตัวอย่างในการทำงานกับคนพิการ เมื่อคนพิการมีงานทำมีรายได้ เกิดการขยับเขยื้อนป็นแรงกระเพื่อมให้คนพิการและคนในชุมชนเห็นว่าคนพิการมีศักยภาพ และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งตัวแทนภาครัฐทั้ง 11 คน ต่างก็ทำงานร่วมกับประชากรกลุ่มเฉพาะในบริบทต่างๆ ทั่วประเทศ และ สสส. ก็พร้อมที่จะเป็นตัวกลางในการนำโมเดลที่ประสบความสำเร็จไปเผยแพร่ในวงกว้าง เพื่อให้หน่วยงานอื่นๆ ได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการทำงานร่วมกับประชากรกลุ่มเฉพาะของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ
20 ปีที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้พยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพว่าไม่ได้มาจากพฤติกรรมส่วนบุคคล แต่มีปัจจัยภายนอกที่สำคัญกว่าเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ ความพิการ การศึกษา หรือการมีสถานะทางประชากร ซึ่งประชากรกลุ่มเฉพาะเหล่านี้ต้องการเข้าถึงสิทธิ์ สวัสดิการสังคม ผ่านการมีส่วนร่วมในกฎ กติกา และสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรม ทุกคนสามารถร่วมกันสร้างสังคมที่น่าอยู่ได้ด้วยการไม่ยอมรับ และไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมถึงการเคารพและเห็นคุณค่าในความแตกต่างหลากหลาย ของประชากรทุกกลุ่ม สามารถเปิดใจและลองทำความรู้จักกับประชากรกลุ่มเฉพาะได้ที่ https://vulnerablegroup.in.th/