ประเทศพัฒนาแล้วที่ยอมรับพืชจีเอ็มโอ พืชได้รับการแก้ไขยีน ด้วยเหตุเพื่อลดต้นทุนการใช้สารเคมี เพิ่มผลผลิต ต้านทานโรคศัตรูพืช และให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทำการเกษตรมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพิ่มศักยภาพการผลิต

มีทั้งรูปแบบรถอัจฉริยะ ทำงานอัตโนมัติตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวไปจนแพ็กสินค้าในเครื่องเดียว หรือหุ่นยนต์ที่คอยสอดส่อง สำรวจพื้นที่ คอยดักจับแมลงศัตรูพืช หรืออีกหลายรูปแบบ ถือเป็นความหวังสำหรับความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของการทำการเกษตรในอนาคต

รายงานล่าสุดโดย Tractica นักวิเคราะห์ตลาดและที่ปรึกษา ระบุว่า การจัดส่งหุ่นยนต์ทั่วโลกที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในการเกษตรในปีนี้มีมูลค่าสูงถึง 87.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี 2568 จะมีมูลค่าสูงถึง 87.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ เนื่องจากอังกฤษ สหรัฐฯ ประเทศที่ความเจริญทางเทคโนโลยีการเกษตรอันดับต้นๆของโลก กำลังประสบปัญหาแรงงานภาคเกษตร ที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จากแรงกดดันทางเศรษฐกิจและการเมือง

ปัจจุบันทั้งสองประเทศมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องแรงงานข้ามชาติ อันนำมาซึ่งการหลั่งไหล อพยพเข้าประเทศหลายรูปแบบ ฉะนั้น จึงให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อการเกษตรเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่สหรัฐฯขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศ รัฐวอชิงตันแหล่งปลูกแอปเปิ้ลชั้นเยี่ยมของโลก ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นชั่วโมงละ 13.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ชั่วโมงละ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนเฉพาะค่าแรงงานเก็บแอปเปิ้ลเพิ่มขึ้นอีกเอเคอร์ละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนประเทศไทยเห่อพูดกันเรื่องแผนการพัฒนาประเทศในยุค 4.0 แต่กลับทำสวนทางให้คนถือจอบถือเสียมทำไร่ทำนา ไม่ต่างจากยุค 0.4.

...