ภัย!รอบตัวเรายังมี...สารพิษฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง ชาวสวน...ชาวนาใช้ไปแรกๆก็ดี แต่ผ่านไปสักพัก “ระบบนิเวศ” ...ของผืนดินแปลงนั้นจะถูกทำลายลงและผลก็คือดินจะไม่อุดมสมบูรณ์ การเพาะปลูกก็จะไม่ยั่งยืน แต่จะหยุดใช้ก็กลัวเพราะโดนบริษัทสารเคมีล้างสมองว่า ถ้า... “หยุด” ผักผลไม้จะมีปัญหา

“...จึงใช้ต่อไปทั้งๆที่คนปลูกเองก็ไม่กล้ากินของที่ปลูก มาถึงผู้บริโภคส่วนที่มันตกค้าง ล้างแล้วก็ล้างออกได้ไม่หมด มะเร็งก็เป็นมหาศาล”

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แผนกประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภากาชาดไทย บอกอีกว่า ตอนนี้ “กัญชา”...ก็อยากจะปลูกกัน ซึ่งปลูกนั้นไม่ยาก แต่รู้ไหมว่ากัญชาดูดแทบทุกอย่างเข้าตัวมันเองโดยเฉพาะจากในดิน ฉะนั้นถ้าผืนดินที่นำกัญชาไปปลูกมีสารพิษปนอยู่แทนที่จะเป็นคุณกลับเป็นโทษ

“เคยได้ยิน...ไกลโฟเซตไหม สารเคมีพิษฆ่าหญ้าที่ชอบพูดกันว่าอันตรายน้อยกว่าเกลือ แต่เสียใจด้วยเพราะมันก่อมะเร็งเช่นกัน ยังเป็นพิษต่อตับ ไต ปอด มีก่อสมองอักเสบและสมองฝ่ออีกด้วย”

พลิกแฟ้มแนวทางนโยบายเกษตรไทยกันอีกสักตั้ง เราๆท่านๆจะฝากความหวังไว้ได้กี่มากน้อย?

ย้อนไปเดือนพฤศจิกายน 2560 กฤษฎา บุญราช เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงนโยบายชัดเจนว่าจะปรับปรุง “โครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรของไทย” เนื่องจากที่ผ่านมานั้น ไม่เคยมีมาก่อน...เกษตรกรทำไปตามยถากรรม อะไรราคาดีก็แห่ปลูกแห่ทำเหมือนๆกัน ผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ จนนำมาเททิ้ง ชุมนุมประท้วงให้รัฐเข้าอุ้มในรูปแบบการจำนำ การประกันราคาหรือการซื้อนำตลาด ซึ่งแต่ละปีใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาท จนกระทั่งกลายเป็นภาระทางการเงินการคลังของประเทศตลอดมา

...

แนวคิด “การตลาดนำการผลิต” จึงผุดขึ้น ซึ่งนายกฤษฎาได้บอกเล่าถึงที่มาของแนวคิดดังกล่าวว่า ได้น้อมนำพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ซึ่งพระราชทานไว้จากที่พระองค์ได้ทรงงานด้านเกษตรกรรม

ทั้งการจัดระบบน้ำชลประทานเพื่อการเกษตร การปรับคุณภาพดิน การเลือกทำการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม โดยทรงแนะนำเกษตรกรแบ่งพื้นที่การเกษตรออกเป็นส่วนๆให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม จัดแบ่งพื้นที่สำหรับทำเป็นแหล่งเก็บน้ำ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และปลูกที่อยู่อาศัยในอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10

เมื่อเกษตรกรนำไปปฏิบัติ ผลปรากฏว่า...มีรายได้ตลอดทั้งปี มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ ที่สำคัญคือ “มีความสุข”

จากแนวพระราชดำริดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้น้อมนำมาเป็นแนวทางมาบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมทั้ง 149 ล้านไร่ทั่วประเทศ โดยการจัดแบ่งพื้นที่ หรือ “โซนนิ่ง” การทำเกษตรกรรมของประเทศ

พร้อมวางแผนพื้นที่ใดเหมาะสมและควรทำการเกษตรชนิดไหน จำนวนเท่าไร โดยใช้ข้อมูลจากแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก รวมถึงสำรวจความต้องการสินค้าการเกษตรตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำมาเป็นเป้าหมายในการส่งเสริมการผลิตให้แก่เกษตรกร เรียกว่า... “การตลาดนำการผลิต”

กฤษฎา บอกว่า ปัญหาที่พบตั้งแต่รับราชการเป็นนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดคือความเดือดร้อนของเกษตรกรซึ่งมีรายได้น้อยกว่าอาชีพอื่น เนื่องจากอำนาจต่อรองต่ำ...ถูกกดราคา มาตรการที่รัฐบาลในอดีตใช้ในการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำด้วยการแทรกแซงหรือพยุงราคาสินค้านั้นเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ยั่งยืน

“สินค้าเกษตรไทยมีต้นทุนการผลิตที่สูง รัฐบาลที่ผ่านมาต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดหรือมาตรการประกันราคาผลผลิต รวมทั้งการใช้งบประมาณอีกมหาศาลสำหรับรับจำนำผลผลิตเพื่อจะดึงให้ราคาผลผลิตนั้นสูงขึ้น แต่วิธีการดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้ในยุคปัจจุบัน”

การหาทางออกจึงนำไปสู่แนวทางรวมเกษตรกรรายย่อยให้เป็นกลุ่มเกษตรกร พร้อมทั้งรวมพื้นที่การเกษตรแปลงเล็กแปลงน้อยให้เป็นแปลงใหญ่ เพื่อวางแผนบริหารจัดการผลผลิตร่วมกัน นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในภาคเกษตรแทนแรงงานมนุษย์ โดยมีหน่วยงานของกระทรวงในระดับพื้นที่เข้าไปดูแลให้คำแนะนำครบวงจรแก่กลุ่มเกษตรกร ตั้งแต่เริ่มต้นลงมือปลูก การดูแลแปลง การเก็บเกี่ยว รวบรวมผลผลิตไปจนถึงการจำหน่ายสู่ตลาด

นี่คืออีกหนึ่งความท้าทายที่สำคัญ เมื่อมีการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกันจนเห็นผลสำเร็จในระยะที่ 1 แล้ว จึงมีการต่อยอดและเป็นที่มาของการปรับ “โครงสร้างภาคการเกษตรของไทย” เฟส 2

เกิดเป็น “โครงการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่” ซึ่งขณะนี้ได้ลงมือจัดทำแปลงต้นแบบแล้ว 12 แปลง ครอบคลุมทั้งการเพาะปลูก ปศุสัตว์ ประมง

กฤษฎา กล่าวย้ำในหลายๆเวทีว่า “อาชีพเกษตรกร” นั้น นอกจากรายได้น้อยแล้ว ยังมีความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องหามาตรการลดความเสี่ยงเพื่อไม่ให้เกษตรกรขาดทุน เกิดหนี้สินสะสมเป็นวัฏจักรซ้ำรอยดังเช่นในอดีต

จึงได้มีการกำหนดรูปแบบในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ประกอบด้วย...การเกษตรแบบผสมผสาน (Integrated Agriculture) การทำเกษตรแบบประณีต (Exquisite Agriculture) การทำเกษตรแบบแม่นยำ (Precision Agriculture)...มุ่งหวังจะได้ผลผลิตคุณภาพ (Premium Product)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และเกษตรอินทรีย์ (Organic) ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาสูงขึ้น

รัฐมนตรีเกษตรฯ ลูกชาวสวนแปดริ้ว บอกอีกว่า ถ้าเราปรับโครงสร้างภาคการเกษตรให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพตามแนวทางข้างต้นเหล่านี้ เราสามารถเป็นมหาอำนาจทางอาหารหรือเป็นครัวของโลกได้แน่นอน

...

ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ รวมทั้งภูมิประเทศเหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรมดีกว่าประเทศอื่นๆ รวมทั้งคนไทยยังมีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถทำครัวหรือทำอาหารเก่งอยู่แล้ว

“ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯนั้นหอมหวนยิ่งกว่ากลิ่นทุเรียนในตลาดไท จึงอยากฝากรัฐบาล...รัฐมนตรีใหม่ที่มาดูแลเกษตรกรให้นำการปรับโครงสร้างวิธีการเกษตรกรรมรูปแบบนี้ไปพิจารณาสานต่อด้วย...

ใช้ข้อได้เปรียบที่เอื้อต่อการทำเกษตรกรรมของไทยเป็นกลไกพื้นฐานในการพัฒนาเกษตรกรให้เข้มแข็ง มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศมั่นคงขึ้น สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ไม่แพ้ประเทศอุตสาหกรรม”

นี่คือสิ่งสำคัญของการปรับโครงสร้างการผลิตภาค...“เกษตรไทย” กระทรวงเกษตรฯไม่ได้ทำหน้าที่เพียงไปส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรตามหลักวิชาการเพียงอย่างเดียว หากแต่ศึกษาทิศทาง...แนวโน้มความต้องการของตลาด นำข้อมูลต่างๆเข้าไปแนะนำแก่เกษตรกรอย่างครบวงจรเดินหน้าไปในทิศทางที่ดี

ถึงตรงนี้ในมุมคุณหมอ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ก็ยังเป็นห่วงเรื่องสุขภาพทั้งในระยะสั้น...ระยะยาวเป็นกังวลว่า ถ้ารัฐไม่เลิกส่งเสริมการใช้สารเคมีพิษ “คนไทย” ก็จะมี “โรคภัยไข้เจ็บ” ไม่รู้จักจบจักสิ้น

ประเทศไทย...สารฆ่าหญ้า พาราควอต ไกลโฟเซต สารฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอสและอื่นๆอีก 280 ตัว ล้างไม่ออก ไม่ว่าใช้อะไรก็ตาม...

ความร้อน 300 องศาก็ยังทำลายไม่ได้ แล้วประเทศไทยจะมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ยังไง...

เห็นอย่างนี้แล้ว...จะปล่อยให้บริษัทนายทุนยัดเยียด “สารพิษ” ใส่ “อาหาร” เราอยู่อีกหรือ?