สารพิษอันตรายในอุตสาหกรรมเกษตร “พาราควอต” คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต” กลับมาเป็นประเด็นร้อนระอุอีก เมื่อในปี 2562 มีการอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตราย 3 ชนิดนี้ เพิ่มขึ้น สวนทางมติผู้ตรวจการแผ่นดิน เคยเสนอเลิกใช้ใน 2 ปีนี้ เพราะคำนึงถึงอันตรายด้านสุขภาพ แม้ไม่เกิดขึ้นฉับพลันแต่ก็สะสมในร่างกาย
ด้วยเหตุความตระหนักผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนนี้ ทำให้เกิดการรวมตัวของนักวิชาการอีกครั้ง ในเวทีเสวนา “รวมพลคนสู้ทุน...(ผูกขาด)” ในการนี้มี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หน.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ให้ข้อมูลว่า ตามรายงานกรมการเกษตรในปี 2560 มีการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตรายมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดมีอันตรายทั้งต่อคนและสิ่งแวดล้อม
ในจำนวนนี้มีสารเคมีอันตราย 3 ชนิด คือ 1.ไกลโฟเซต หรือ สารควบคุมวัชพืช มีการนำเข้า 59.85 ล้าน กก. ที่มีความเสี่ยงก่อมะเร็ง โรคไต และศาลแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เคยตัดสินให้บริษัทจ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เกิดจากการฉีดพ่น
2.คลอร์ไพริฟอส หรือสารกำจัดแมลงศัตรูพืช มีการนำเข้า 3.32 ล้าน กก. ที่ศาลสหรัฐอเมริกา สั่งให้ EPA แบนใน 60 วัน เมื่อปี 2561 เพราะมีผลต่อสมองทารกและเด็ก และ 3.พาราควอต หรือสารกำจัดวัชพืชประเภทไม่เลือกทำลาย มีการนำเข้า 44.50 ล้าน กก. ในหลายประเทศ “ประกาศแบน” เพราะมีพิษฉับพลันสูง
ย้ำว่า...ในต่างประเทศประกาศแบน มีการควบคุมการนำเข้าสารเคมีอันตราย แต่ประเทศไทยมีลักษณะนำเข้าอย่างกึ่งเสรี...ปริมาณมหาศาลมากที่สุดในโลก เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่การเกษตรกรรมของประเทศ ประมาณว่ามากเกินกว่าความจำเป็น...
ที่ผ่านมา ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เคยมีโอกาสศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลจอห์นส ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา มีผู้ค้นพบว่า สาร MPTP หรือสารพิษต่อเซลล์ประสาทโดพามีน มีโครงสร้างเหมือนกับ “ยาฆ่าหญ้าพาราควอต” ทำให้เกิด “โรคพาร์กินสัน” อย่างฉับพลัน ในการสืบค้นจากผู้ป่วยที่ติดเฮโรอีน หรือฉีดเฮโรอีนสังเคราะห์ชนิดใหม่
...
นับตั้งแต่ปี 1985 สหรัฐอเมริกามีมาตรการจับตาตรวจสอบประวัติของผู้ป่วย “โรคพาร์กินสัน” หรือ “โรคสมองเสื่อม” ทั่วทั้งประเทศ เพราะมีกระบวนการข้อพิสูจน์ว่า พาราควอตสามารถผ่านเข้าไปยังสมองมนุษย์ได้ชัดเจน สาเหตุเกิดโรคพาร์กินสัน ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นการเฝ้าติดตามผู้ที่สัมผัสกับยาฆ่าหญ้านี้...
ถัดมาปี 2006 มีรายงานผู้ป่วยเสี่ยงเกิดโรคพาร์กินสันจากการสัมผัสสารเคมีเพิ่มขึ้น 70% สำหรับผู้สัมผัสกับพาราควอตมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า ทำให้มีการควบคุมสารพาราควอต ผู้ใช้ต้องขึ้นทะเบียนควบคุมมาตรการป้องกัน เช่น สวมชุดป้องกันระหว่างฉีดพ่น
การสวมชุดป้องกันระหว่างสัมผัสยากำจัดวัชพืชชนิดนี้ จะมีอันตรายลดน้อยลงมากจริง หากมีผลเกิดการสะสมระยะยาวแทน ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โรคทางสมอง และโรคเบาหวาน...
ทั้งนี้ ใน 53 ประเทศ ประกาศแบนห้ามนำเข้าสารพาราควอต รวมถึงในประเทศลาว เขมร เวียดนาม ศรีลังกา และประเทศจีนที่เป็นผู้ผลิต แต่ประเทศไทยนำเข้ามหาศาลมากกว่าพื้นที่ที่รองรับในภาคเกษตรด้วยซ้ำ
กระทั่งในปี 2012 วงการแพทย์ทั่วโลกเริ่มสนใจศึกษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง พบว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการสัมผัส หรือรับสาร “ไกลโฟเซต” เข้าไปทำลายโรงงานพลังงานในเซลล์ต่างๆ ก่อตัวเกิดโรคมะเร็งน้ำเหลือง
ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกินไกลโฟเซต 200 ซีซี แพทย์ตรวจเอกซเรย์ (X-Ray) สมอง พบว่า สารเคมีก่อเกิดปฏิกิริยาทางสมองเสื่อมฉับพลัน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่า สารเคมีมีผลเกิดโรคสมองเสื่อมเช่นกัน...และมีคำถามว่า...แล้วคลอร์ไพริฟอสมีอันตรายระดับใด!...
เพราะถือว่าเป็นสารเคมี 1 ใน 280 ชนิด ในประเทศไทย อนุญาตยินยอมให้เกษตรกรใช้ในการเกษตร แต่ประเทศพัฒนา...อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา ห้ามเด็ดขาด เพราะเคยมีผลสำรวจ มีอันตรายกับเด็กทารกในหญิงตั้งครรภ์ อาศัยนอกพื้นที่เกษตร ที่ตรวจพบสารเคมีคลอร์ไพริฟอส สะสมในเด็กทารกตั้งแต่เล็กน้อยถึงมากที่สุด
เมื่อเด็กอายุ 7 ขวบ กลับมีลักษณะอาการสมองเสื่อมในระดับความรุนแรงตามจำนวนมากน้อยของการสะสมคลอร์ไพริฟอส...
หนำซ้ำ...เด็กกลุ่มนี้มีสภาพเพศเปลี่ยนแปลงผิดปกติ เช่น เพศผู้ชายกลายเป็นผู้หญิง หรือผู้หญิงกลายเป็นผู้ชาย เพราะช่วงเด็กอยู่ในครรภ์ของมารดาระยะ 8 สัปดาห์ ถึง 24 สัปดาห์ คลอร์ไพริฟอสได้เข้าไปก่อปฏิกิริยาฮอร์โมนบางตัว และปรับเซลล์สมอง เปลี่ยนสภาพความผิดปกติของการเลือกเพศขึ้น
“สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นสารพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต สามารถเกิดโรคทางสมองได้ทั้งหมด ที่ไม่ใช่เฉพาะโรคพาร์กินสัน หรือโรคอัลไซเมอร์ แต่หนักถึงโรคไขกระดูกสันหลัง รวมถึงโรคกล้ามเนื้อด้วย”
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ว่า “ประเทศไทย...รับทราบถึงผลแฝงอันตราย... สารพิษของยากำจัดวัชพืชมานานกว่า 20 ปี และควรต้องหาสิ่งทดแทน ลดความเสี่ยงต่อเกษตรกรและผู้บริโภค แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่ทำอะไร ปล่อยส่งเสริมใช้กันอย่างแพร่หลายอย่างเสรี จนคนไทยถูกกระทำไม่อาจมีอาหารปลอดภัยมายาวนาน...”
ตามข้อมูลสมุดปกขาวถึงนายกรัฐมนตรี จัดทำโดยนักวิชาการ กรรมการวัตถุอันตรายมีการสรุปการตรวจสารเคมี 3 ชนิดนี้ ว่า สารพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ
แต่ที่น่าสังเกต...องค์กรเอกชนและมหาวิทยาลัยต่างๆ นำแหล่งน้ำตัวอย่างตามอ่างเก็บน้ำ หรือน้ำประปาในหมู่บ้าน ตามที่กรรมการวัตถุอันตรายเคยนำไปตรวจ มีการเก็บเวลาใกล้เคียงกัน พบว่า มีสารพิษทั้ง 3 ชนิด ปะปนเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัด...นำมาสู่ต่างประเทศ ประกาศแบนสินค้าทางการเกษตรของประเทศไทย!
สิ่งที่น่าตกใจ...ตัวอย่างดินในจังหวัดหนองบัวลำภู มีสารพิษปะปนอยู่มากมาย มีผลต่อคนสัมผัสกับดินนั้น ก่อเกิดผลข้างเคียงเกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ แสดงให้เห็นว่าในดินเกิดการสะสมสารพิษมากเกินไป จนผืนดินรองรับการสะสมมากเกินไปไม่ไหว และปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ สู่พืชผักการเกษตร หรือผลไม้ มีผลให้พืชผลการเกษตรเกิดการสะสมสารพิษนี้ฝังในเนื้อลำต้น
...
จากข้อมูล สปสช. ใน 3 ปี มีผู้เสียชีวิตจากผลกระทบรับสารพิษเข้าไปในร่างกาย 1,700 คน หรือ 600 คนต่อปี และมีผู้ป่วยต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลต่างๆ 14,000 คน หรือ 1,300 คนต่อปี สูญเสียค่ารักษา 62.81 ล้านบาท หรือ 22 ล้านบาทต่อปี หากไม่จำกัดสารพิษนี้ มีกัญชาดีเลิศ...ประเสริฐศรีแค่ไหน ก็ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ เพราะต้นเหตุเกิดจากสารพิษเคมีพวกนี้...!
นับรวมไปถึงมีเอกสารอ้างอิงของกรมส่งเสริมสุขภาพสิ่งแวดล้อม ปี 2559-2560 แจ้งผลการตรวจหาสารตกค้างในตัวอย่างสิ่งแวดล้อมจากหลายแหล่ง มีสารตกค้างของคลอร์ไพริฟอสในดิน น้ำ ผัก ผลไม้ และสัตว์ต่างๆ อาทิ ในพื้นที่ จ.น่าน เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา นครปฐม
และสุ่มตัวอย่าง 446 สินค้าส่งออก และในห้างสรรพสินค้า ส่งวิเคราะห์สารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน 478 ชนิด ในผลไม้ ผักยอดนิยม ผักพื้นบ้าน และกระทรวงสาธารณสุขของประเทศมาเลเซีย ตรวจพบการตกค้างสินค้าส่งออกเกินกว่าค่าที่กำหนดในผัก ผลไม้สด ได้แก่ มะม่วงสด ลองกอง และเงาะ
สิ่งที่ทุกคนกินอยู่นี้มีแต่สารพิษปะปนอยู่ทั้งหมด แม้ล้างน้ำกี่ครั้ง หรือต้มสุก 300 องศาฯก็ไม่มีผลทำให้สารเคมีที่ฝังตัวอยู่ในพืชผัก ผลไม้ เจือจางลง
นี่คือสิ่งที่คนไทยกำลังเผชิญ...สารเคมีอันตรายเข้าสู่ร่างกายแบบไม่รู้ตัว ทุกชีวิตมีความเสี่ยง และเราแค่ร้องขอความปลอดภัยในชีวิต จากการรับประทานอาหารปลอดสารพิษ...เท่านั้นเอง.