กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรไม่ควรปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ 89 เพราะอ่อนแอแพ้ทุกโรคทั้งหัวเน่า พุ่มแจ้ และใบด่าง

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า หลังกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรค ใบด่างมันสำปะหลัง เกิดจากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) ติดต่อกัน 4 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้โรคดังกล่าวเข้ามาใน ประเทศไทย เนื่องจากโรคนี้ได้ระบาดในเวียดนาม ทำให้ผลผลิตเสียหาย 50-100 เปอร์เซ็นต์ การสำรวจล่าสุดพบต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างในพื้นที่ 5 อำเภอ จำนวน 18 ตำบล ในจังหวัดสระแก้ว

“เราพบว่า สาเหตุสำคัญมาจากเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ 89 แม้จะเป็นพันธุ์เติบโตได้ดีและให้น้ำหนักดี แต่เป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อทุกโรคของมันสำปะหลัง ได้แก่ โรคหัวเน่า พุ่มแจ้ และใบด่าง ดังนั้นจึงขอให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงไปปลูกพันธุ์อื่น และท่อนพันธุ์ที่นำมาปลูกต้องมาจากแปลงผลิตต้นพันธุ์สะอาดและปลอดโรค รวมทั้งไม่ใช้ท่อนพันธุ์ที่ลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ เนื่องจากอาจมีโรคใบด่างติดเข้ามากับท่อนพันธุ์ด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดการระบาดในฤดูปลูกต่อมาได้ ทั้งนี้ หากมีโรคใบด่างมันสำปะหลัง จากเชื้อไวรัส SLCMV เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศจะทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกรเสียหายโดยสิ้นเชิง ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เลย เพราะจัดเป็นโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดของมันสำปะหลัง”

...

ส่วนการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังจากเชื้อไวรัส SLCMV นางสาวเสริมสุข แนะให้เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกมันสำปะหลังทุก 2 สัปดาห์ หากพบต้นที่แสดงอาการต้องสงสัยให้ดำเนินการถอนทำลายต้นที่ต้องสงสัยและต้นข้างเคียงในพื้นที่ 4×4 ม. (ไม่เกินจำนวน 16 ต้น) โดยวิธีฝังกลบในหลุมลึกไม่น้อยกว่า 2-3 ม. ทำการกลบด้วยดินหนาไม่น้อยกว่า 0.5 ม.

และพ่นสารฆ่าแมลงเพื่อกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ ด้วยสารเคมี อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโน-ทีฟูแรน 10% SL อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ในแปลงที่พบอาการต้องสงสัยและแปลงใกล้เคียง เพื่อป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบซึ่งเป็นแมลงพาหะนำโรคที่สำคัญ.