เผยอาจารย์ห่วงงานไม่มั่นคง จี้เพิ่มองค์ความรู้ต่อยอดศาสตร์เดิม

รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธุ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยว่า ตามที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผลิตครูอย่างมีคุณภาพและพัฒนาความรู้ของครูยุคใหม่ให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้นนั้น เรื่องนี้เราต้องเริ่มต้นจากมหาวิทยาลัยที่เป็นสถาบันผลิตครู โดยเฉพาะคณะศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ เพราะหากยังยึดติดการสอนแบบเดิมๆเด็กก็จะได้รับความรู้แบบเดิมไม่มีการต่อยอดหรือตามทันการเรียนการสอนยุคใหม่ได้ ซึ่งตนมองว่าสิ่งหนึ่งที่เรายังขาดอยู่มาก คือการปลูกฝังความเป็นครูให้แก่นักศึกษาครู เช่น อาจารย์ผู้สอนจะต้องเอาใจใส่นักศึกษาด้วยการเปิดรับฟังข้อคิดเห็นของลูกศิษย์ ต้องมีใจกว้างเพราะนักเรียนอาจคิดเห็นไม่เหมือนกับเรา เป็นต้น

“ขณะนี้พบปัญหาหลักสูตรการผลิตครู 4 ปีของบางสถาบันไม่ยอมปรับวิชาใหม่ โดยพบมีการตั้งชื่อวิชาใหม่แต่สอนแบบเดิม เช่น วิชาจิตวิทยาการสอน และหลักสูตรการสอน ซึ่งสองวิชานี้นักศึกษาสะท้อนมาว่าอาจารย์สอนซ้ำและเป็นการเรียนที่ซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งส่วนใหญ่ที่ไม่ยอมปรับปรุงวิชาการสอนในวิชาครูนั้น เพราะอาจารย์บางคนกลัวว่าตัวเองจะไม่มีวิชาที่จะสอนและภาระงานลดลงกังวลว่าจะไม่มั่นคงในการทำงาน จึงทำให้ต้องป้องกันวิชาของตัวเองเอาไว้ก่อน ส่งผลให้การผลิตครูของเราเดินช้าถือว่าไม่ถูกต้อง ผมมองว่าครูต้องคิดค้นวิชาใหม่ๆมาสอนเด็กด้วยการนำองค์ความรู้เดิมมาต่อยอดกับศาสตร์วิชาใหม่ๆได้ อย่างการเรียนวิชาโค้ดดิ้ง เป็นการเรียนเขียนโปรแกรมหากครูผู้สอนนำมาประยุกต์กับวิชาพื้นฐานเดิมที่สอนอยู่ก็สามารถกลายเป็นวิชาใหม่ๆได้

...

ดังนั้น เราต้องปรับวิธีคิดตลอดเวลา เหมือนกับหมอหากมาเจอโรคใหม่ๆไม่มีวิธีรักษาคนไข้ก็ต้องตายหมด ซึ่งมันไม่ใช่ เราสามารถต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ๆได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม คณะศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์จะต้องติดตามและมีการประเมินผลการเรียนการสอนของอาจารย์ผู้สอนนักศึกษาครูแบบเข้มงวด พร้อมกับฟังเสียงสะท้อนจากนักศึกษาครูให้มากขึ้น แม้อาจารย์มหาวิทยาลัยจะมีอิสระทางวิชาการก็จริง แต่ต้องมีอิสระในการกำกับดูแลการสอนที่ถูกต้องด้วย” ประธาน กมว.กล่าว.