“ปู่ย่านำพันธุ์ต้นกกจากอุดรฯ มาปลูก ทอเสื่อใช้กันเองภายในบ้าน เหลือค่อยแบ่งปันให้ญาติต่างถิ่น มีคนเห็นเข้ามาขอแบ่งซื้อไปใช้กัน เพราะนอนแล้วนุ่มสบาย มีกลิ่นหอมอ่อนๆจากต้นกก”
ป้าเรืองยศ หนานพิวงศ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์จักสานบ้านเหล่าพัฒนา อ.นาหว้า จ.นครพนม เล่าถึงที่มาของธุรกิจทอเสื่อกก จากที่มีไว้ใช้กันในครัวเรือน พัฒนามาเป็นรายได้เสริมช่วงว่างงานและในที่สุดกลายเป็นงานหัตถกรรมส่งออก สร้างรายได้หลักให้กับคนในหมู่บ้านเหล่าพัฒนา
จากงานรุ่นแรกใช้เส้นกกสีธรรมชาติ แต่เพราะคนไทยชอบเสื่อสีสันสดใส จึงพัฒนาไปสู่การนำสีเคมีมาย้อม แต่ผลงานการย้อมแต่ละครั้งสีเส้นกกไม่สม่ำเสมอ ทอเสื่อแล้วไม่สวยมากนัก เพราะขาดความรู้เรื่องเทคนิคการย้อม กลายเป็นจุดอ่อนให้ลูกค้าติติงต่อรองราคา
กระทั่งกรมพัฒนาชุมชนเข้ามาสอนวิธีย้อมสี อบรมการทำเสื่อจากม้วนเก็บเปลี่ยนมาพับให้มีขนาดเล็กกะทัดรัดง่ายต่อการเก็บ ชิ้นงานเสื่อจึงขยับราคาจาก 100 บาท ขึ้นเป็น 250-400 บาท ถูกอกถูกใจผู้ใช้ แต่ละเดือนเริ่มมียอดสั่งเข้ามามากขึ้น...พื้นที่ปลูกกก 20 ไร่ ขยายเป็น 200 ไร่
...
“ในขณะที่อื่นๆคนเลิกทอเสื่อกกกันไปหมดแล้ว เพราะรายได้ไม่แน่นอน แต่พวกเรายังทำได้ และขายได้ดีกว่าเก่า เพราะเรายังอนุรักษ์วิธีการทอเสื่อกกแบบเดิมๆ ใช้มือทำเป็นหลัก ไม่พึ่งเครื่องจักรเลย ทางศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) จึงคัดเลือกให้ป้าเป็นครูช่าง เพื่อจะได้เอาภูมิปัญญาดั้งเดิมไปสอนต่อให้คนรุ่นหลัง เพื่ออนุรักษ์อาชีพโบราณไม่ให้สูญหาย”
ปี 2553 ชีวิต ป้าเรืองยศ คนทอเสื่อกกถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง...หลัง ศ.ศ.ป. สอนวิธีย้อมสีด้วยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ มะเกลือ เปลือกยูคาลิปตัส ดอกดาวเรือง ทำให้สีเส้นกกที่ย้อมสวยงามปลอดภัยกับผู้บริโภค พร้อมอบรมการออกแบบชิ้นงานต่างๆให้มีความหลากหลายจากเสื่อกกรูปทรงสี่เหลี่ยม มีทั้งเสื่อกลม ม่านบังลมบังแดด กระเป๋า ฯลฯ
และจากผลิตขายให้แต่คนไทย หลังได้ไปศึกษาดูงานและออกร้านในต่างประเทศ...เสื่อ กระเป๋า สารพัดชิ้นงานเลยมีโอกาสถูกส่งไปขายในญี่ปุ่น จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์
เพื่อให้การพัฒนาไม่หยุดนิ่ง ทางกลุ่มจึงได้คิดออกแบบชิ้นงานทอกกให้รูปทรงร่วมสมัย...วัยรุ่นใช้ได้วัยแม่ใช้ดี
...
ปี 2560 นำฟางข้าวจากแปลงนาอินทรีย์มาทดลองทอเสื่อผืนเล็ก ขนาดกว้าง 22 ซม. ยาว 60 ซม. แล้วขึ้นรูปทำ “กระเป๋าทรงโปรตุเกส” ทดลองนำมาขายหน้าร้านในหมู่บ้าน...ทำขายแทบไม่ทัน
นอกจากช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายฟางข้าว ยังช่วยลดปัญหาฝุ่นควันมลพิษเพราะเมื่อฟางข้าวมีราคา ชาวนาจะงดเผาตอซัง สนใจถามกันได้ที่ 08-1288-9062.
เพ็ญพิชญา เตียว