หมดสมัยแล้วที่จะมองว่า “ครู” เป็นอาชีพมีแต่ปัญหาหนี้สิน ไร้ความก้าวหน้า เพราะครูยุคนี้ได้รับอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนวิทยฐานะไม่น้อยหน้าข้าราชการทั่วไปซะอีก แถมมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานสูง และปลอดความเสี่ยงตกงาน เพราะความต้องการครูยังมีตลอดเวลาทั้งรัฐและเอกชน โดยเฉพาะครูที่มีคุณภาพพร้อมปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันโลกทันสถานการณ์ รับรองอนาคตไกล
ถ้าไปถามเด็กไทยในช่วง 2–3 ปีนี้ ว่าอยากเรียนคณะไหนมากที่สุด นอกจากคณะยอดฮิตอย่างแพทย์, วิศวะ, นิเทศศาสตร์, อักษรศาสตร์ และบัญชีแล้ว คณะครุศาสตร์ที่ปลุกปั้นครู ก็เป็นอีกสาขาที่เด็กไทยยุคใหม่ต้องการเรียนที่สุดคณะหนึ่ง เพราะถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรีได้สร้างคนสร้างสังคม เด็กยุคใหม่ยังมองไกลว่าพวกเขาต้องการเป็นครูเพื่อจะได้เปลี่ยนระบบการศึกษาไทย
...
ในฐานะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ “รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช สุชีวะ” บอกเล่าถึงสถานการณ์การรับสมัครคัดเลือกนิสิตเข้าศึกษาในคณะครุศาสตร์ทั้ง 21 วิชาเอกซึ่งมากที่สุดของประเทศ ประจำปีการศึกษาล่าสุดว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการปรับปรุงหลักสูตร จากหลักสูตร 5 ปี เป็นหลักสูตร 4 ปี คณะจำเป็นต้องจำกัดจำนวนนิสิตที่จะรับ จากเดิมที่เคยรับปีละ 450 คน มาในปีนี้คาดว่าจะรับนิสิตใหม่ประมาณ 400 คน เพื่อลดปัญหาจำนวนนิสิตที่รับปีนี้จะต้องไปปฏิบัติวิชาชีพ ครูพร้อมกับนิสิตปี 5 ของหลักสูตรเดิมในปีการศึกษา 2565 โดยผลจากการเปิดรับสมัครทั้ง 3 รอบที่ผ่านมา ทำให้ได้นิสิตมาแล้ว 306 คน และในรอบ 4 คาดว่าจะเหลือโควตารับเพิ่ม 100 คน โดยคะแนนสูงสุด
จากรอบ 3 ที่ผ่านมา เป็นของสาขามัธยมศึกษามีคะแนนอยู่ที่ 26,000 กว่าคะแนนและคะแนนต่ำสุดอยู่ที่ 18,000 กว่าคะแนน
อย่างไรก็ดี แนวโน้มที่น่าดีใจคือ เด็กรุ่นใหม่ที่มาสอบสัมภาษณ์กับคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ในปีนี้ ล้วนแต่มีความตั้งใจและจริงจังที่อยากจะเป็นครู หลายคนตั้งใจนำวิชาชีพครูกลับไปพัฒนาท้องถิ่นในบ้านเกิด เนื่องจากตระหนักว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่มั่นคง มีคุณค่า สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม
เกือบทุกอาชีพกำลังถูกดิสรัปชันโดยเทคโนโลยี อาชีพครูก็หนีไม่พ้น จึงต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่ คณบดีคนเก่งชี้ว่า ครูยุคใหม่ต้องมีมากกว่าจิตวิญญาณความเป็นครู โดยครูต้องยืดหยุ่น พร้อมปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับความต้องการแท้จริงของเด็ก ที่สำคัญครูยุคใหม่ต้องมีทักษะการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กมีทักษะที่จำเป็นในอนาคต
ซึ่งครอบคลุมถึงทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ ทักษะในการแก้ปัญหา ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม ทักษะการร่วมมือรวมพลัง ทักษะการทำงานเป็นทีมและภาวะผู้นำ ทักษะด้านความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม ทักษะการสื่อสารและรู้เท่าทันสื่อ ทักษะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนทักษะการนำการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ทางคณะมุ่งเน้นปีนี้คือ การเรียนรู้ที่มุ่งสร้างสมรรถนะควบคู่กับการเปิดประสบการณ์ภาคสนามทางการศึกษาตั้งแต่ปี 1 เพื่อให้นิสิตได้ไปคลุกคลีเรียนรู้ผู้เรียน, โรงเรียน และระบบการศึกษาจริงๆ
...
คำว่า “ครู” ไม่ควรจำกัดอยู่แค่เรื่องการสอนความรู้จากตำรา แต่ครูต้องทำหน้าที่เป็นเพื่อนผู้ชี้แนะให้ผู้เรียนสร้างการเรียนรู้ด้วยความใฝ่รู้ของตนเอง ครูจึงต้องเข้าใจความต้องการและรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป ครูยุคใหม่จะให้คำแนะนำด้านวิชาการอย่างเดียวไม่พอ ต้องถ่ายทอดทักษะด้านชีวิต จิตใจ และสังคมด้วย เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกยุคใหม่ และเติบโตเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพของชาติต่อไป.
...