ปัจจุบันปัญหาขยะนับเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ความเจริญเติบโตของเมืองแบบก้าวกระโดด ประกอบกับความไร้วินัยของคนในชาติ ส่งผลให้เกิดการทิ้งขยะเกลื่อนเมือง
แม้หน่วยงานในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นจะพยายามแก้ปัญหา แต่ติดขัดในเรื่องสถานที่ทิ้งขยะ
ด้วยเหตุนี้เองทำให้หลายพื้นที่มีการลักลอบ “ทิ้งขยะ” กันเกลื่อนกลาด โดยเฉพาะพื้นที่รกร้างว่างเปล่า มีขยะสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก เกิดผลกระทบต่อผู้คนในชุมชนรอบข้าง
เช่นเดียวกับพื้นที่ ป่าเนินเขาทอง ต.แก่งเสี้ยน อ.เมืองกาญจนบุรี เป็นพื้นที่ราชพัสดุ อยู่ในความดูแลของ กองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ใช้เป็นที่ฝึกกำลังพลทางยุทธวิธี ยังมีการลักลอบทิ้งขยะมานานหลายปีเช่นกัน จนมีสภาพเป็น “ภูเขาขยะ”
...
ในสมัยที่ พล.ท.ณรงค์พันธ์ จิตแก้วแท้ แม่ทัพภาคที่ 1 ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ได้พยายามเข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตรวจสอบพบว่าตั้งแต่ปี 2530 มีการลักลอบนำขยะไปทิ้งในพื้นที่กว่า 100 ไร่ จนมีปริมาณขยะสะสมเกือบ 1 ล้านตัน
พล.ท.ณรงค์พันธ์ จึงสั่งให้ปิดบ่อขยะ และหารือกับ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 37 แห่ง เพื่อหาแนวทางการแก้ไข โดยจัดตั้ง โครงการบริหารและกำจัดขยะ ขึ้นมา พร้อมนำเครื่องคัดแยกขยะ 3 เครื่อง เข้าไปคัดแยก
วันที่ 10 พ.ค.2560 พล.ท.ณรงค์พันธ์ ได้ร่วมกับ นายสมเจตน์ จงศุภวิศาลกิจ รอง ผวจ.กาญจนบุรี นายสมชาย ฟักทอง นายก อบต.แก่งเสี้ยนและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 18 แห่ง “กดปุ่ม” เริ่มเดินเครื่องคัดแยกขยะที่สะสมกันเกือบ 1 ล้านตัน
โครงการดังกล่าวได้ดำเนินเรื่อยมา กระทั่งถึงสมัยของ พล.ต.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ คนปัจจุบัน ได้เข้าไปสานงานต่อ เพื่อให้การแก้ไขเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ทำให้ปัจจุบันปริมาณขยะจากเดิมสูงเป็นภูเขาเลากา ถูกกำจัดไปจำนวนมาก เหลือเพียงแค่ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
พล.ต.รังษี กิติญาณทรัพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานดำเนินงานโครงการกำจัดขยะ เปิดเผยว่า ได้เร่งบริหารจัดการขยะเก่าที่ตกค้าง และขยะใหม่ที่จะนำไปทิ้งให้หมดไปอย่างถูกลักษณะ ตามหลักสุขาภิบาล เป็นไปตามนโยบายของ รัฐบาล และมติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
...
“โครงการนี้ถือเป็นโครงการต้นแบบ เป็นการพัฒนาระบบการคัดแยกขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ให้สูงสุด และบริเวณโรงงานคัดแยกขยะในอนาคตจะมีการปลูกป่าเบญจพรรณและแปลงเกษตรสาธิตใช้ปุ๋ยที่คัดแยกจากขยะ แจกจ่ายให้ชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียง ถือเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะแบบครบวงจร” พล.ต.รังษีกล่าว
พล.ต.รังษี เผยอีกว่าสำหรับขยะที่ย่อยสลายได้นำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด แจกให้กับเกษตรกร ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน สามารถแจกปุ๋ยอินทรีย์ได้ 1,250 ตัน มีเกษตรกรได้รับปุ๋ย 1,250 คน
...
ส่วนขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ จะนำไปกำจัดนอกพื้นที่ โดยการนำไปเผาที่ โรงปูน TPI กับ โรงปูนนกอินทรี ปัจจุบันสามารถบริหารจัดการขยะลดลงได้กว่า 4 แสนตัน และสามารถคืนพื้นที่ให้กลับมาสู่สภาพเดิมได้ 40 ไร่
ปัจจุบันยังมีขยะเข้าสู่โครงการอยู่ เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน จ.กาญจนบุรี ได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์ในการนำขยะไปทิ้งในพื้นที่ของโครงการ จนกว่าจะสามารถหาพื้นที่ ในการทิ้งขยะแห่งอื่นได้
นอกจากนี้ บริเวณเนินเขาทองยังมีโครงการ “ทุ่งดาวเรือง รวมใจภักดิ์” ที่ พล.ท.ณรงค์พันธ์ ผู้ก่อตั้งโครงการ และ พล.ต.รังษี ในฐานะประธานดำเนินโครงการ ร่วมมือกับส่วนราชการ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้ รุ่นที่ 63 และจิตอาสา 50,000 คน ร่วมกันปลูกต้นดาวเรือง 450,000 ต้น พร้อม สัญลักษณ์ “เลข ๙” บนพื้นที่ 50 ไร่
...
นับเป็นทุ่งดาวเรืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เคยใช้ในพิธีสำคัญ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ 9 หลังจากนั้นได้มอบต้นดาวเรืองทั้งหมดให้กับส่วนราชการต่างๆ นำไปประดับในสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
ขณะเดียวกันทาง กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ยังได้ก่อตั้งโครงการอื่นๆอีกหลายโครงการ อาทิ โครงการการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส 43 หลัง โครงการมอบเตียงคนไข้ให้กับผู้ป่วย 22 เตียง โครงการพัฒนาชุมชน 11 แห่ง และโครงการจัดรถรับส่งผู้ป่วยไปยัง รพ.78 ครั้ง
ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนโครงการจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ตามพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
จากผลการปฏิบัติงานที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนร่วมในพื้นที่ จ.กาญจนบุรีอย่างต่อเนื่อง สมาคมสื่อมวลชนจังหวัดกาญจนบุรี จึงพิจารณามอบประกาศ รางวัลเชิดชูเกียรติ RIVER KWAI AWARDS ให้กับ พล.ท.ณรงค์พันธ์ จิตต์
แก้วแท้ แม่ทัพภาคที่ 1 และ พล.ต.รังษี กิติญาณทรัพย์ เพื่อเชิดชูเกียรติ
ยกย่องในผลการปฏิบัติงานอันเป็นกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง.
สรวุฒิ จงสกุล รายงาน