นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เผยว่า ขณะนี้มีรายงานในต่างประเทศพบโรคระบาดในกุ้ง 2 โรค ทำให้มีอัตราการตายสูง ได้แก่ โรค Hepatopancreatic microsporidioisis caused by Enterocyto- zoon hepatopenaei หรือ EHP ที่เกิดจากเชื้อไมโครสปอริเดีย ส่งผลให้กุ้งโตช้า แตกไซส์ อาจทำให้เกิดอาการขี้ขาวกุ้งทยอยตาย กับโรค Shrimp hemocyte iridescent virus หรือ SHIV เพื่อเป็นการป้องกัน เฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้เชื้อโรคดังกล่าวเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย โดยเฉพาะจากการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งหรืออาหารมีชีวิตมาจากต่างประเทศ

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศกำหนดให้โรค EHP และโรค SHIV ซึ่งเกิดในกุ้งเป็นโรคภายใต้ พ.ร.บ.โรค ระบาดสัตว์ เช่นเดียวกับโรคอื่นๆในสัตว์น้ำที่เคยมีการประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้ 38 โรค

“การเพาะเลี้ยงกุ้งภายในประเทศ จำเป็นต้องปรับเข้าสู่ระบบปิด และจัดการฟาร์มตามหลักไบโอซีเคียวริตี้ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาดในกุ้ง ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตกุ้งเหมือนช่วงที่โรค EMS ระบาด ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยปกป้องและรักษาเสถียรภาพกุ้งไทยให้เข้มแข็ง”

...

อธิบดีกรมประมงให้ข้อมูลโรค EHP เกิดจากเชื้อปรสิต Enterocytozoon hepatopenaei จัดอยู่ในกลุ่มของไมโคร-สปอริเดียน ซึ่งเป็นปรสิตที่มีขนาดเล็กมาก (เล็กกว่า 1 ไมครอน ไม่สามารถมองด้วยตาเปล่า) การตรวจสอบต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ที่ระดับกำลังขยายสูงสุด โดยมีรายงานการติดเชื้อปรสิตชนิดนี้ในกุ้ง Penaeus japonicas ในประเทศออสเตรเลีย มาตั้งแต่ปี 2544 แม้ว่ากุ้งจะไม่ตายด่วน แบบ EMS แต่จะมีผลทำให้กุ้งโตช้า เลี้ยงต่อไปเกษตรกรจะขาดทุนค่าอาหาร ในประเทศไทยเคยพบปรสิตชนิดนี้ครั้งแรกในกุ้งกุลาดำเมื่อปี 2547 พบในเซลล์ตับและตับอ่อนของกุ้งกุลาดำ แต่พบในสัดส่วนไม่มากพอที่จะก่อให้เกิดโรค EHP

ส่วนโรค SHIV หรือไวรัสกุ้งเกล็ดเลือด เป็นเชื้อไวรัสตัวใหม่ในตระกูล Lridoviridae ในเชื้อ L.vannamei โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การประมง แห่งประเทศจีน ตรวจพบในกุ้งขาว Litopenaeus vannamei ที่บ่อเลี้ยงที่เมืองเจ้อเจียงแล้วเกิดตายลงเป็นจำนวนมาก เมื่อปี 2556 พบการตายในกุ้งตัวใหญ่ ลำตัวสีซีด ท้องว่างเพราะไม่กินอาหาร กล้ามเนื้อเปลือกแข็ง ตัวแดงเล็กน้อย และสามารถแพร่เชื้อไปยังกุ้งก้ามกรามได้ด้วย แต่ยังไม่พบการระบาดในบ้านเรา.