สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับการล้อมรั้วแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้า เพื่อป้องกันทรัพย์สิน แต่ปรากฏว่า มีเด็กอายุแปดขวบไปวิ่งเล่น ในบริเวณใกล้กับรั้ว ซึ่งเจ้าของที่ดินปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ เพื่อป้องกันมิให้ วัว ควาย เข้ามาทำลายพืชผักที่ปลูกไว้ในที่ดินของตัวเอง เด็กพลาดไปถูกลวดไฟฟ้า เป็นเหตุให้เด็กอายุแปดขวบดังกล่าว ถูกกระแสไฟฟ้าช็อตจนเสียชีวิต ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน จึงมีประเด็นสงสัยว่าการปล่อยกระแสไฟฟ้าไปตามรั้วนั้น ทำได้หรือไม่
กรณีการล้อมรั้วและปล่อยกระแสไฟฟ้า เพื่อป้องกันทรัพย์สินนั้น เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสามารถทำได้ ไม่มีความผิดตามกฎหมาย แม้ผู้ที่เข้ามาในพื้นที่ของคุณจะถูกกระแสไฟฟ้าช็อตถึงแก่ความตายก็ตาม
เทียบเคียง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1923/2519
โรงเก็บของของจำเลยอยู่ในบริเวณสวนของจำเลย มีรั้วต้นพู่ระหงปลูกเป็นแนวเขต จำเลยเก็บของอันมีค่าเช่นเครื่องยนต์สูบน้ำและอุปกรณ์อื่นๆ ไว้ ทรัพย์สินที่จำเลยเก็บไว้ในโรงเก็บของเคยถูกคนร้ายลักไปในตำบลที่เกิดเหตุมีคนร้ายชุกชุม จำเลยเอาเส้นลวดขึงที่โรงเก็บของและปล่อยกระแสไฟฟ้าจากบ้านไว้เพื่อป้องกันคนร้าย ผู้ตายกับพวกอีก 3 คนบุกรุกเข้าไปที่โรงเก็บของในเวลาวิกาล โดยเจตนาจะลักทรัพย์ ในมือผู้ตายมีเหล็กไขควง 1 อัน แต่ผู้ตายไปถูกเส้นลวดที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ถึงแก่ความตายเสียก่อน มิฉะนั้นผู้ตายกับพวกย่อมลักทรัพย์ของจำเลยไปได้ นับได้ว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สินของจำเลยใกล้จะถึงแล้ว ถ้าจำเลยไปพบเห็นเข้า จำเลยย่อมมีสิทธิทำร้ายผู้ตายกับพวกเพื่อป้องกันทรัพย์สินของจำเลยได้ ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย และพอสมควรแก่เหตุ จำเลยจึงไม่มีความผิด
...
แต่ทั้งนี้ ก็มีคำพิพากษาของศาลฎีกาหลายฉบับที่วินิจฉัยว่า การปล่อยกระแสไฟฟ้าไปตามรั้ว เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ และในบางกรณีไม่สามารถอ้างเหตุป้องกันได้ เป็นเหตุให้ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งติดตั้งรั้วและปล่อยกระแสไฟฟ้า จะต้องรับโทษในข้อหาทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 20 ปี
ดังนั้น การล้อมรั้วและปล่อยกระแสไฟฟ้า จึงจำเป็นต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ ไป ซึ่งมีสาระสำคัญที่จะต้องพิจารณาหลายประการ ตัวอย่างเช่น
1. หากกรณีมีหลักฐานชัดเจนว่าผู้ที่บุกรุกเข้ามาในพื้นที่ของคุณและถูกกระแสไฟฟ้าช็อตจนได้รับบาดเจ็บ หรือถึงแก่ความตายนั้น มีเจตนาเข้ามา เพื่อขโมยทรัพย์สินภายในพื้นที่ของคุณ หรือบุกรุกเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต กรณีนี้คุณสามารถอ้างเหตุป้องกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 หรืออาจจะเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ตามมาตรา 69 ได้ แล้วแต่กรณี
แต่หากบุคคลที่ถูกกระแสไฟฟ้าช็อตจนได้รับบาดเจ็บ หรือถึงแก่ความตายนั้น เป็นบุคคลที่อยู่ภายในที่พักอาศัยของคุณ หรือเป็นลูกจ้าง หรือเป็นบุคคลที่คุณอนุญาตให้เข้ามาภายในที่พักอาศัยของคุณได้ กรณีนี้คุณอาจจะได้รับโทษตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 297 หรือ 290 แล้วแต่กรณี
2. มูลค่าของทรัพย์ที่อ้างว่าจำเป็นจะต้องป้องกันความเสียหายจากสัตว์ หรือผู้ที่จะเข้ามาขโมยทรัพย์สิน หากมีมูลค่าน้อย ก็ไม่อาจจะอ้างเหตุป้องกันได้ หรือเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ แม้ผู้ที่เข้ามาในพื้นที่ของคุณจะประสงค์ต่อทรัพย์นั้นก็ตาม เมื่อเทียบกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับผู้อื่น กรณีนี้ ศาลอาจจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ประกอบ มาตรา 69
ส่วนในกรณีที่ทรัพย์สินมีมูลค่าสูง ประกอบกับเคยถูกโจรกรรมทรัพย์สินมาแล้ว หรือในบริเวณดังกล่าวมีโจรชุกชุม ท่านสามารถอ้างเหตุป้องกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ได้ ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายครับ
3. พื้นที่ติดตั้งลวด ซึ่งปล่อยกระแสไฟฟ้า ควรติดตั้งภายในพื้นที่ชั้นใน ไม่ควรติดตั้งในบริเวณรั้วบ้าน เนื่องจากสุ่มเสี่ยงที่บุคคลผู้บริสุทธิ์จะได้รับอันตรายจากการปล่อยกระแสไฟฟ้าของท่าน และท่านอาจจะไม่สามารถอ้างเหตุป้องกันตามกฎหมายได้
สรุป แม้ว่าการปล่อยกระแสไฟฟ้า เพื่อป้องกันทรัพย์สินของท่าน ในบางกรณีสามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่ก็ควรจะพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น พื้นที่ติดตั้งลวดไฟฟ้า กำลังไฟที่ปล่อยไปตามเส้นลวด การติดป้ายเตือน การปล่อยกระแสไฟเป็นระยะๆ มูลค่าของทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะนำมาพิจารณาประกอบด้วย ก่อนที่จะตัดสินใจใช้วิธีดังกล่าว เพื่อป้องกันทรัพย์สินครับ
...
สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ
Facebook: ทนายเจมส์ LK