ปัจจุบันการเปิดโอกาสให้เยาวชนรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมเริ่มลดน้อยลง ขณะที่ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงดำเนินกิจกรรมโครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือ "เพาเวอร์กรีน" เพื่อมุ่งเน้นให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้รู้จักการนำความรู้มาใช้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ รวมทั้งปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ 

สำหรับค่าย "เพาเวอร์กรีน" เป็นหนึ่งในโครงการรับผิดชอบต่อสังคมของบ้านปูฯ ด้วยแนวคิด "พลังความรู้ คือ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา" โดยเดินหน้าจัดกิจกรรมทัศนศึกษา ณ ต่างประเทศมาแล้ว 4 ปีติดต่อกัน โดยครั้งนี้เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น พร้อมเหล่าเยาวชนดีเด่นทั้ง 3 คน คือ น.ส.พัชชธร หนูปลอด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา, นายธนัช กาญจนจินดา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา จังหวัดระยอง, น.ส.เจณิชตา เจริญชัยดี โรงเรียนวัดทรงธรรม จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อนำมาทำกิจกรรมต่อยอดความรู้และศึกษาเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ ควบคู่ไปกับการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

เริ่มต้นด้วยการเยี่ยมชม เมืองโทคะมะจิ ชุมชนต้นแบบการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีการนำพลังงานความร้อนจากใต้ดินที่เกิดจากแหล่งออนเซ็นมะสึโนะยามะ มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในชุมชน โดยมีความเชื่อว่าออนเซ็นในย่านนี้เป็น 1 ใน 3 ย่านออนเซ็นที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น เนื่องจากมีแร่ธาตุที่สามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ อีกทั้งในช่วงหน้าหนาวที่เมืองแห่งนี้จะมีหิมะตกหนัก มีการสะสมตัวของหิมะสูงถึง 4 เมตร ทำให้การสัญจรเป็นไปด้วยความลำบาก ธุรกิจการท่องเที่ยวของเมืองหยุดชะงัก ชาวเมืองจึงเกิดแนวคิดในการประยุกต์ใช้ความร้อนใต้พิภพมาละลายหิมะบนถนน

...

จากนั้น เดินทางมาต่อที่ "เกาะซาโดะ" จังหวัดนีงาตะ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่มีแผนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยเดินทางไปชมและสัมผัสของจริงที่โรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลจากขยะที่เป็นเศษไม้ สำหรับการทำความร้อนในออนเซ็น ซึ่งเป็นตัวอย่างการบริหารจัดการขยะที่ดีอีกวิธีหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาแนวทางการอนุรักษ์นกช้อนหอยหงอน หรือ นกโทกิ ที่เคยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติในญี่ปุ่นแล้วเมื่อปี 1981 เนื่องจากการใช้สารเคมีในนาข้าวที่มากเกินไป และปัจจัยด้านอื่นๆ โดยปัจจุบันมีนกโทกิอาศัยอยู่ในเกาะซาโดะจำนวน 360 ตัว

รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า ขอชื่นชมความพยายามที่จะอนุรักษ์ "นกโทกิ" ที่สูญพันธุ์ไปแล้วให้กลับมา โดยทั้งหมดสำเร็จได้เพราะความร่วมมือของชาวนาที่อยู่บริเวณโดยรอบ ร่วมกันช่วยอนุรักษ์ระบบนิเวศนาข้าว ลดการใช้สารเคมี รวมทั้งวิธีป้องกันไม่ให้นกเข้ามารบกวนนาข้าวจนเสียหาย ถือเป็นการร่วมมือของทุกฝ่ายที่ช่วยอนุรักษ์นกโทกิ

...

ทางด้าน นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกิจกรรมครั้งนี้ว่า สำหรับจุดหมายปลายทางของการเรียนรู้ที่หลากหลายในครั้งนี้เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะช่วยให้เยาวชนทั้ง 3 คน สามารถนำความรู้และประสบการณ์หลายด้านมาเชื่อมโยงกัน เพื่อต่อยอดการพัฒนาและสร้างสรรค์แนวคิดในการนำความหลากหลายทางชีวภาพมาใช้ประโยชน์ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ และพัฒนาสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ สำหรับเยาวชนที่สนใจอยากเปิดโลกทัศน์ และเข้าร่วมค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม "ค่ายเพาเวอร์กรีน 14" สามารถติดตามข่าวสารการเปิดรับสมัครและข้อมูลต่างๆ ได้ที่ แฟนเพจเฟซบุ๊ก PowerGreen Camp โดยจะเปิดรับสมัครช่วงเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม และจะจัดค่ายขึ้นช่วงเดือนตุลาคม.