สรุป 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ ยอดผู้เสียชีวิตพุ่ง 386 ราย บาดเจ็บกว่า 3 พันคน ขณะที่ มท.ฟุ้งตัวเลขการสูญเสียลดลง พร้อมเร่งชงแก้กฎหมายลดพฤติกรรมเสี่ยง...
เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 18 เม.ย. 62 นายสุธี มากบุญ รมว.มหาดไทย แถลงสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า ปีนี้เป็นปีที่มีความพิเศษ เพราะได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานความห่วงใย ให้กับประชาชน และพระราชทานแนวทางจิตอาสา ร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะการตั้งจุดตรวจด่านชุมชน ที่สามารถช่วยลดอุบัติเหตุความสูญเสียได้มาก
นอกจากนี้ การดำเนินการตาม 7 มาตรการเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง สามารถลดความสูญเสีย ได้มากกว่าปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันมาตรการเมาไม่ขับ จับยึดรถของคสช. ที่สามารถตรวจสอบรถ 4 ล้านคัน จากทั้งหมด 7 ล้านคัน และมีการตรวจยึดได้กว่า 7,200 คัน ถือว่าเป็นปัจจัยที่ลดการสูญเสีย
สำหรับสถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 17 เม.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้าย เกิดอุบัติเหตุ 273 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 30 ราย ผู้บาดเจ็บ 277 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 38.10 และตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 26.74 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.15
ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,039 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,454 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 981,987 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 210,883 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 55,805 ราย ไม่มีใบขับขี่ 48,183 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี (จังหวัดละ 10 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี (4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (11 คน)
...
อย่างไรก็ตาม สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (11-17 เม.ย. 62) เกิดอุบัติเหตุ 3,338 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 386 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,442 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 4 จังหวัด ได้แก่ กระบี่, พังงา, สุโขทัย และอ่างทอง จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ และ นครศรีธรรมราช (จังหวัดละ 128 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี และอุดรธานี (จังหวัดละ 15 ราย)
ส่วนจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (136 คน) สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 36.61 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 28.31 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.25 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 66.15 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 39.48 ถนนใน อบต.หมู่บ้าน ร้อยละ 35.98 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 29.09
อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมสถิติอุบัติเหตุในช่วง 7 วันของการรณรงค์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต ยังคงเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมากำหนดแนวทางการสร้างความปลอดภัยทางถนนในระยะยาว
นายปวิณ ชำนิประศาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยจะได้กำชับให้จังหวัดบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงอุบัติเหตุสูง (อำเภอสีแดงและสีส้ม) วิเคราะห์ข้อมูลและถอดบทเรียนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาในมิติเชิงพื้นที่ที่ครอบคลุมทุกด้าน.