ความสำเร็จจากนโยบายในการแก้ปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด ที่ นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ผลักดันให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เกษตรกร เอกชน ร่วมกันแก้ปัญหาด้วยหลักการ “ขอความร่วมมือ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของรัฐ และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค” มาแต่ปีที่แล้ว ...วันนี้ราคาไข่ไก่กระเตื้องขึ้น เริ่มวิ่งเข้าหาจุดสมดุลระหว่างการผลิตกับการบริโภค

หนึ่งในมาตรการร่วมมือสำคัญ...ให้ผู้ประกอบการ 16 ราย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) และเลี้ยงปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP) ร่วมกันลดจำนวน PS ให้เหลือ 460,000 ตัว และลดจำนวน GP ให้เหลือ 3,800 ตัว

เพื่อให้ไทยมีไก่ไข่ยืนกรง 50 ล้านตัว ให้ผลผลิตไข่ไก่วันละ 40 ล้านฟอง อันเป็นระดับที่ผลผลิตไข่ไก่สอดคล้องกับการบริโภค...สำรวจล่าสุดมีนาคม 62 มีไก่ไข่ยืนกรง 46 ล้านตัว

“การจัดการปริมาณพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ PS ให้เหมาะสม ถือเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการปัญหาที่ต้นน้ำ ช่วยรักษาเสถียรภาพไข่ไก่อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนไทย”

สุเทพ สุวรรณ-รัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ ให้คำแนะนำที่น่าสนใจ...เพื่อให้อุตสาหกรรมไก่ไข่ไทยมีเสถียรภาพได้อย่างยั่งยืน ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำเข้าพันธุ์ไก่ PS น่าจะรวมตัวกันหันมานำเข้าและเลี้ยงไก่ปู่ย่าพันธุ์ GP เอง เพื่อผลิตไก่ PS ใช้เองในประเทศ เพื่อจะได้ไม่ต้องเอาอนาคตไปผูกไว้กับต่างชาติ

หากย้อนหลังไปดูประวัติศาสตร์ วิกฤติไข้หวัดนกในสหรัฐฯ เมื่อปี 58 ผู้นำเข้าไก่ PS ของไทยต้องชะลอการนำเข้า ส่งผลกระทบกับปริมาณไข่ไก่ในประเทศ ราคาไข่ขยับจนประชาชนเดือดร้อน นี่คือการแขวนชีวิตไว้กับฝรั่ง แขวนความมั่นคงทางอาหารของคนไทยไว้กับต่างชาติ

ข้อเสนอนี้ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้ เพราะไทยมีผู้นำเข้า GP ที่สามารถผลิต PS ได้เองอยู่แล้ว แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะวิธีการเลี้ยงแตกต่างจากไก่ทั่วไป แต่เมื่อมองไปที่อุตสาหกรรมไก่เนื้อ ก็จะเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูง เพราะมีหลายบริษัทได้นำเข้าและเลี้ยงไก่เนื้อปู่ย่าพันธุ์ GP เพื่อผลิตไก่ PS ประสบความสำเร็จมีให้เห็นมากมาย

...

วิธีนี้น่าจะเป็นอีกทางออกของการรักษาเสถียรภาพและสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมไก่ไข่ไทย...ที่ก่อประโยชน์ทั้งกับผู้ผลิตและผู้บริโภค.

สะ-เล-เต