อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั่วโลก กำลังได้รับผลกระทบจากการรณรงค์ให้บริโภคน้ำตาลน้อยลง

เมื่อความต้องการลด แต่ผลผลิตยังคงที่หรือเพิ่มขึ้น เกษตรกรรวมถึงโรงงานอ้อย จึงได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ ให้อ้อยและน้ำตาลมีประโยชน์เพิ่มขึ้นมากกว่าทำน้ำตาลทรายเอทานอลหรือเอาส่วนที่เหลือทิ้ง อย่างเส้นใยและกากชานอ้อยไปแปรรูปผลิตกระแสไฟฟ้า หรืออื่นๆ มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย จึงได้ร่วมกับ สถาบันจีโนม (Genome Institute) สหรัฐอเมริกา วิจัยการแก้ไขยีนในอ้อยเป็นครั้งแรก เพื่อปรับแต่งต้นอ้อยให้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพใช้ทดแทนน้ำมันฟอสซิล และพลาสติกชีวภาพได้ดีขึ้น

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า พวกเขาใกล้ที่จะไขความลับดีเอ็นเอของอ้อย เพื่อนำศักยภาพของดีเอ็นเอนี้มาผลิตเชื้อเพลิงสีเขียว (green fuel) คาดว่าจะสำเร็จภายในปี 2563

Robert Henry ผู้อำนวยการพันธมิตรเพื่อการเกษตรและนวัตกรรมด้านอาหารแห่งรัฐควีนส์แลนด์ กล่าวว่า เรากำลังมองหาแนวทางการใช้อ้อยแทนน้ำมัน เพื่อทดแทนวัตถุดิบทางเคมีที่เราได้รับจากน้ำมันแบบดั้งเดิม ดังนั้น นี่จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้ทดแทน

นอกจากจะได้พลังงานสะอาดจากอ้อยทดแทนน้ำมันที่ใช้กันทุกวันนี้ ผลพวงที่น่าจะได้ตามมาคือ พลาสติกชีวภาพ 100% ชิ้นส่วนรถยนต์ จากเส้นใยและกากอ้อย หรือส่วนเหลือทิ้งอื่นรวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนขึ้น

บ้านอื่นเมืองอื่นเขาคิดกันไปไกล แต่บ้านเราปาล์มน้ำมันที่สามารถนำมาแปรรูปใช้แทนน้ำมันปิโตรเลียมได้สารพัดอย่าง...ยังไม่กล้าคิดขยับให้ไปไกลเกินกว่า ทำเป็นน้ำมันเจียวไข่.