โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ระบาดในประเทศจีนและเวียดนาม ส่งผลให้มีการทำลายหมูลงไปเป็นจำนวนมาก เกิดภาวะเนื้อหมูไม่เพียงพอต่อการบริโภค...แน่นอนว่าระดับราคาเนื้อหมูในประเทศจีนและเวียดนามย่อมสูงขึ้นกว่าปกติ เป็นไปตามกลไกตลาด

สำหรับไทยแม้ยังไม่ได้เผชิญกับ ASF แต่ฤดูร้อน หมูกินอาหารได้น้อยลง โตช้า อัตราแลกเนื้อสูง เพราะต้องใช้อาหารมากขึ้นในการเปลี่ยนเป็นน้ำหนักตัว 1 กิโลฯ และยังมีเทศกาลสงกรานต์ ที่ความต้องการบริโภคเนื้อหมูสูงขึ้น สวนทางกับปริมาณหมูที่ลดลง...ราคาหมูบ้านเราจึงขยับขึ้นตามกลไกตลาดเช่นกัน

ภาวะเช่นนี้สร้างรอยยิ้มแก่เกษตรกร แต่ขัดความรู้สึกผู้บริโภค...ร้อนถึงภาครัฐที่มักเอาใจผู้บริโภคด้วยการคุมราคาหมู โดยไม่ได้ศึกษาถึง “วัฏจักรหมู” หรือ Hog Cycle อย่างแท้จริง

เพราะราคาหมูมีขึ้นมีลงเป็นไปตามกลไกตลาดอยู่แล้ว...รัฐไม่ต้องมาวุ่นวายควบคุมราคาแต่ประการใด ด้วยแต่ละเดือนมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเป็นตัวช่วยกำหนดราคา

ปัจจัยแรก ฤดูกาล...ม.ค.-ก.พ. (2 เดือน) การบริโภคหมูคึกคัก เพราะมีวันหยุดหลายวัน เมื่อเข้าสู่หน้าร้อน (3 เดือน) ราคาหมูจะสูงขึ้น เนื่องจากอากาศร้อนปริมาณหมูเข้าสู่ตลาดน้อยลง พอเข้าช่วงฤดูฝน ก.ค.-พ.ย. (5 เดือน) มีอาหารธรรมชาติออกสู่ตลาดมากมาย ผู้บริโภคมีทางเลือก และยังเป็นช่วงเทศกาลเข้าพรรษา กินเจ ราคาหมูจะอ่อนตัว พอมาธันวาคม (1 เดือน) อากาศหนาวเย็น การท่องเที่ยวคึกคัก มีวันหยุดหลายวัน การบริโภคมากขึ้น ทำให้ราคาหมูค่อนข้างดี

...

พฤติกรรมการเลี้ยงเป็นปัจจัยถัดมา...เนื่องจากเกษตรกรมักวางแผนการเลี้ยง ดูราคาปัจจุบันเป็นหลัก ถ้าราคาสูงจะแห่กันเลี้ยง ผลคือหมูล้นตลาด ราคาตกต่ำ จากนั้นจะพากันเลิกเลี้ยง พอหมูขาดตลาด ราคาขยับสูงขึ้น แห่เลี้ยงหมุนวนไปเช่นนี้เสมอมา

อีกปัจจัยที่มีส่วนกำหนดราคา...ไทยมีการส่งออกหมูไปประเทศเพื่อนบ้าน ลาว กัมพูชา เมียนมา บางครั้งมีไปถึงเวียดนามและจีน เมื่อหมูเพื่อนบ้านขาดแคลน ความต้องการหมูเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยให้ไทยส่งออกหมูเป็นได้มากขึ้น ทำให้ราคาหมูขยับขึ้น...ปัจจัยนี้ไม่เพียงเรื่องโรคระบาดในหมูของแต่ละประเทศ แต่ยังรวมถึงปัญหาน้ำท่วม ภัยพิบัติต่างๆที่เกิดในประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ราคาหมูมีขึ้นมีลง ล้วนมาจากปัจจัยเหล่านี้ แม้ราคาปีนี้จะมีแนวโน้มขยับสูงกว่าปีก่อน เป็นโอกาสให้เกษตรกรที่เพิ่งผ่านภาวะขาดทุน จะได้มีกำไรกลับมาใช้หนี้ได้บ้าง...ขอเพียงผู้บริโภคและภาครัฐเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจ ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานของมันไป

เพราะถ้าหมูมีราคาแพงเกินไป ผู้บริโภคสามารถหันไปบริโภคอาหารโปรตีนชนิดอื่นทดแทน...เพียงเท่านี้กลไกตลาดก็จะทำงานให้ราคาหมูลดลงได้เอง.

ชาติชาย ศิริพัฒน์