เพิ่มขึ้น 14 นาทีจากปี 2558 เตือนสื่ออิเล็กทรอนิกส์กระทบพัฒนาการเด็ก
เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือทีเคปาร์ก ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ แถลงข่าว “ผลสำรวจการอ่านของประชากร ประจำปี 2561” โดย น.ส.วันเพ็ญ พูลวงษ์ รอง ผอ.สำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า จากการสำรวจการอ่านของคนไทยในปี 2561 พบว่าคนไทยอายุ 6 ขวบขึ้นไป อ่านร้อยละ 78.8 หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 49.7 ล้านคน โดยในกรุงเทพฯ มีคนอ่านมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 92.9, ภาคกลางร้อยละ 80.4 ภาคเหนือและภาคอีสานร้อยละ 75 และภาคใต้ร้อยละ 74.3 ขณะที่เวลาในการอ่านสูงขึ้น พบว่าคนไทยอ่านหนังสือนานสุด 80 นาที/วัน เทียบจากปี 2558 อ่าน 66 นาที และ 2556 อ่าน 37 นาที สำหรับผลสำรวจการอ่าน โดยจัดอันดับ 10 จังหวัดที่มีจำนวนคนอ่านหนังสือมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ร้อยละ 92.9, สมุทรปราการ ร้อยละ 92.7, ภูเก็ต ร้อยละ 91.3, ขอนแก่น ร้อยละ 90.5, สระบุรี ร้อยละ 90.1, อุบลราชธานี ร้อยละ 88.8, แพร่ ร้อยละ 87.6, ตรัง ร้อยละ 87.2, นนทบุรี ร้อยละ 86.6 และ ปทุมธานี ร้อยละ 86.2
นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รอง ผอ.สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และ ผอ.ทีเคปาร์ก กล่าวว่า เมื่อเราเข้าสู่ยุคดิจิทัลก็พบว่า การอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการอ่าน ทำให้ห้องสมุด ร้านหนังสือ หรือส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงหวังให้ข้อมูลและสถิติการอ่านนี้เป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำงานด้านการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม เรายังพบว่า มีกลุ่มที่ไม่อ่าน ถึงร้อยละ 21.2 คิดเป็นจำนวน 13.7 ล้านคน ซึ่งเหตุผลของการไม่อ่าน ได้แก่ ดูทีวี ไม่มีเวลา อ่านไม่ออก ไม่ชอบ ไม่สนใจ ชอบเล่นเกม และไม่มีเงินซื้อหนังสือ
...
นายกิตติรัตน์กล่าวต่อไปว่า กลุ่มคนที่ไม่อ่าน เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ทีเคปาร์ก และหน่วยงานที่ทำงานด้านส่งเสริมการอ่านให้ความสำคัญ โดยพบว่าเด็กอายุ 6-14 ปี มีแนวโน้มการอ่านเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่า การรณรงค์ส่งเสริมการอ่านในกลุ่มนี้ค่อนข้างได้ผล สำหรับเด็กอายุ 15-24 ปี พบว่าไม่ชอบการอ่านหนังสือถึงร้อยละ 34.9 ขณะที่วัยผู้ใหญ่ 25-50 ปี ที่ไม่ชอบอ่านหนังสือมีถึงร้อยละ 32.8 ชี้ให้เห็นว่า หลังการศึกษาช่วงมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงทำงานและเกษียณอายุ คนกลุ่มนี้ยังขาดนิสัยรักการอ่าน และยังแสดงให้เห็นว่าการปลูกฝังเรื่องรักการอ่านในคนไทยอาจจะยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และจากผลการสำรวจปี 2561 ยังพบว่า การอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียวในเด็กวัยต่ำกว่า 6 ขวบ ที่มีจำนวนร้อยละ 5.4 เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า จากผลสำรวจครั้งที่แล้ว หรือคิดเป็นเด็กถึง 145,000 คน ที่ถูกพ่อแม่เลี้ยงด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างเดียว ซึ่งผลวิจัยทางการแพทย์ยืนยันว่า การเสพสื่อผ่านจออิเล็กทรอนิกส์มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก ไม่สมควรใช้กับเด็กแรกเกิดจนถึง 1 ขวบครึ่ง.