เริ่มมาตรการเข้ม 26 มี.ค.นี้ ปลายปีขยายพื้นที่เชิงพาณิชย์ 1,700 ร้านค้า
เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ, ศ.ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทั่วไป, นายวรพงศ์ สุขธีรอนันตชัย ผอ.สำนักงานจัดการทรัพย์สิน, ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี ผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste, รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์, น.ส.ณิชา เวชพานิช นิสิตคณะอักษรศาสตร์ ประธานชมรม Chula Zero Waste ร่วมกันแถลงข่าวมาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในจุฬาฯ
ศ.ดร.บัณฑิตกล่าวว่า จุฬาฯประกาศเจตนารมณ์การดำเนินมาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยมีเป้าหมายคือ จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ปลอดการใช้โฟม 100% ปลอดการใช้ถุงพลาสติกชนิด Oxo ซึ่งแตกตัวเร็วกลายเป็นไมโครพลาสติกแต่ไม่ย่อยสลาย, เลิกการใช้แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 100% ในโรงอาหาร ลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียวในทุกร้านค้าในเขตพื้นที่การเรียนการสอน 80% ลดปริมาณหลอดและช้อนส้อมพลาสติกให้ได้ไม่น้อยกว่า 20% เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยจะเริ่มดำเนินการอย่างเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 102 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“จุฬาฯมุ่งหวังที่จะให้สิ่งที่ดีที่สุดกับนิสิต คณาจารย์ บุคลากร โดยเฉพาะนิสิตซึ่งไม่เพียง แต่จะได้รับความรู้ทางวิชาการ แต่จะต้องได้รับการปลูกฝังนิสัยที่ดี จิตสาธารณะ และเมื่อจบการศึกษาแล้ว จะได้ช่วยกันเผยแพร่สิ่งที่ดีที่เคยได้รับในรั้วมหาวิทยาลัยไปขยายผลต่อในที่อื่นๆต่อไป” ศ.ดร.บัณฑิตกล่าว
ดร.สุจิตรากล่าวว่า มาตรการการงดแจกถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อในมหาวิทยาลัย ที่ดำเนินการมากว่า 2 ปี ช่วยลดปริมาณถุงพลาสติกได้ 90% โดยผู้ต้องการถุงจะต้องซื้อใบละ 2 บาท โดยรายได้จะนำไปสนับสนุนกองทุนรักษาเต่าที่บาดเจ็บของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และสนับสนุนชมรม Chula Zero Waste ของนิสิต
...
ขณะที่นายวรพงศ์กล่าวว่า จุฬาฯมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้ร้านค้าต่างๆเช่าประมาณ 385 ไร่ ซึ่งทางสำนักงานทรัพย์สินได้แจ้งร้านค้าต่างๆ 1,700 กว่าร้านค้า ล่วงหน้า 1 ปี เกี่ยวกับการลดจำนวนหลอดพลาสติก ถุงพลาสติก เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาเตรียมการ โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่ปลายปี 2562
ด้าน ดร.สุชนากล่าวว่า ประเทศไทยติดอันดับ 6 ของโลกที่มีขยะทะเล ซึ่งส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล ที่กินขยะเหล่านี้เข้าไปเพราะคิดว่าเป็นอาหาร นอกจากนี้ ยังพบว่ามีพลาสติกขนาดจิ๋ว หรือ ไมโครพลาสติก ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และสัตว์ทะเลกินเข้าไป และสัตว์ทะเลเหล่านั้นก็กลับมาเป็นอาหารของมนุษย์ ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลต่อร่างกายของเรา จำเป็นต้องเร่งหาทางป้องกัน.