คงเป็นเพราะคนส่วนน้อยบางคนชอบทำตัวแหกคอก...แวดวงทหารจึงต้องมีสารวัตรทหาร...วงการสงฆ์ มีพระวินยาธิการ (ตำรวจพระ)...ฉันใดก็ฉันนั้น มีหรือนักเรียนจะไม่มี...สารวัตรนักเรียน ไว้คอยดูแลความประพฤติ

แรกเริ่มเดิมที กิจการสารวัตรนักเรียนและนักศึกษา เคยอยู่ในสังกัดของกรมพลศึกษากระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจัดให้มีสารวัตรนักเรียนเป็นเจ้าหน้าที่ดูแล แก้ไขปัญหานักเรียนนักศึกษาที่ทำตัวไม่เหมาะสมตามระเบียบของกระทรวงฯ และกฎหมายต่างๆ

เช่น ในช่วงเวลาเรียนแทนที่จะอยู่ในห้องเรียนของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา กลับหนีเรียนไปสิงสถิตอยู่ตามร้านเกมบ้าง สวนสาธารณะบ้าง ตามโรงหนัง ห้างสรรพสินค้าบ้าง หรือหนักกว่านั้น พากันเข้าโรงแรมก็มี

ต่อมาประเทศไทยได้มีการปรับโครงสร้างของกระทรวง ทบวง กรมใหม่ รวมทั้งประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 นับแต่นั้นมา มีผลให้ตำแหน่งสารวัตรนักเรียน ที่แต่งตั้งขึ้นตามกฎหมายเก่า (ยุคกรมพลศึกษา) มีอันต้องปิดฉากตามไปด้วย

หลังจากนั้นกระทรวงศึกษาธิการ ในยุคที่มี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็น รมว.ศึกษาธิการ ได้มีการลงนามประกาศกระทรวงฯ จัดตั้ง “ศูนย์เสมารักษ์” ขึ้นเมื่อปี 2552 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางดูแลแก้ไขปัญหาความประพฤติของนักเรียน นักศึกษา และสอดคล้องกับ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กฯ โดยมี “พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา” (พสน.) เป็นผู้ดำเนินงาน

แต่คนทั่วไปก็ยังคงเรียกเจ้าหน้าที่ดังกล่าวกันติดปากว่า “สารวัตร นักเรียน” ตามเดิม

ที่มาของ พสน.นั้น ส่วนหนึ่งเป็นบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อีกส่วนเป็นผู้มีจิตอาสา ซึ่งมีคุณวุฒิ และประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับเด็กมานานพอสมควร ซึ่งทุกคนต้องผ่านการอบรมเรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯมาด้วย

...

การทำงานของ พสน.จะเน้นเรื่องการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขสถานการณ์ปัญหาความประพฤติ ทั้งในเหตุทั่วไป และเหตุฉุกเฉิน

โดยทำงานร่วมกับองค์กรเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เช่น ประสานงานกับตำรวจและประชาชนในพื้นที่ให้ช่วยสอดส่องเป็นหูเป็นตา

โดยแต่ละวันจะมีการรับ-แจ้งข่าวสารต่างๆระหว่างกันในเครือข่ายผ่านวิทยุสื่อสาร เพื่อรายงานความคืบหน้า หรือบอกเล่าสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งมีการรับแจ้งเหตุ ผ่านทาง สายด่วนกระทรวงศึกษาธิการ เบอร์โทรศัพท์ 1579 ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนแจ้งข่าวสารได้ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อพบเห็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักเรียน นักศึกษา เช่น หนีเรียน ไปมั่วสุม ชู้สาว เสพยา ทะเลาะวิวาท เป็นต้น

เมื่อ พสน. หรือ “สารวัตรนักเรียนยุคนี้” พบเห็น หรือได้รับแจ้งเหตุพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักเรียน นักศึกษา ซึ่งอาจผิดต่อกฎหมาย หรือระเบียบของกระทรวงฯ ก็จะเข้าไปทำการระงับเหตุ หรือคลี่คลายสถานการณ์ แต่ไม่มีสิทธิ์ลงโทษเด็ก โดยมากจะใช้การเข้าไปพูดคุย สอบถามถึงชื่อ-นามสกุล สถาบันที่เด็กเรียน เพื่อตักเตือนให้กลับเข้าไปเรียน

กรณีที่พบการมั่วสุม ทะเลาะวิวาท จะเข้าไประงับเหตุต่างๆ แล้วแจ้งไปยังต้นสังกัดที่รับผิดชอบในเหตุนั้นโดยตรง ซึ่งอาจเป็นโรงเรียน หรือสถานีตำรวจ เพื่อให้เข้ามารับตัวเด็กไปดำเนินการตามระเบียบของสถาบัน หรือข้อกฎหมาย ตามแต่กรณี

เมื่อไม่นานนี้ หลังเกิดเหตุกรณีนักเรียนโรงเรียนปทุมคงคา ถูกเด็กอาชีวะแทงเสียชีวิตบนรถเมล์ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ บอกว่า จะนำระบบสารวัตรนักเรียนมาทำอย่างจริงจัง และให้มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนมากขึ้น โดยจะทำระบบสารวัตรนักเรียนให้มีความเข้มข้น เป็นสารวัตรนักเรียนยุค 4.0 รู้ลึกทุกข้อมูล ทันต่อเหตุการณ์

สกู๊ปหน้า 1 จึงได้สอบถามความเห็นจากแหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พสน.ของศูนย์เสมารักษ์ สำนักงานศึกษาธิการ จังหวัดกรุงเทพมหานครผู้หนึ่ง ถึงกรณีดังกล่าว

แหล่งข่าวผู้นี้บอกว่า ปัญหาของเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่เรื่องการทะเลาะวิวาทกันเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาที่ทับซ้อนในเชิงโครงสร้างหลายอย่าง

เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาทางเศรษฐกิจ ครอบครัวแตกแยก ความย่อหย่อนทางระเบียบวินัยของสังคม ปัญหาเชิงพฤติกรรมของเด็กที่เปลี่ยนไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นตัวชี้วัดที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาทั้งระบบ

“รูปแบบการทำงานของ พสน. หรือสารวัตรนักเรียนยุคนี้ อาจแตกต่างกันบ้างกับสารวัตรนักเรียนยุคเก่า สมัยที่ยังสังกัดกับกรมพลศึกษา ซึ่งมักจะใส่กางเกงวอร์มคอยวิ่งไล่จับเด็กหนีเรียน หรือทะเลาะวิวาทกันตามโรงหนัง ห้างสรรพสินค้า หรือสวนสาธารณะ แต่ พสน.จะใช้วิธีการละมุนละม่อมมากขึ้น เช่น คอยไปดักสกัดก่อนที่จะเกิดเหตุ หรือปัญหา” แหล่งข่าวเปรียบเทียบ

“ยกตัวอย่าง ถ้าเราได้เบาะแสมาว่าจะมีเด็กชวนกันหนีเรียนไปดูหนัง ซึ่งสมัยนี้หนังมีฉายวันละหลายรอบ ทั้งรอบเช้า รอบบ่าย และรอบเย็น ถ้าโรงหนังเปิดตอน 10 โมงเช้า เราจะไปดักซุ่มเพื่อสกัดไม่ให้เด็กเหล่านั้นหนีเรียนเข้าไปดูหนัง ตั้งแต่ 9 โมงเช้า หรือก่อนหนังฉาย เป็นต้น”

แหล่งข่าวบอกว่า การจะแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนหนีเรียนไปก่อพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ไปนั่งจู๋จี๋กันในเชิงชู้สาวตามสวนสาธารณะ หนีไปเล่นเกมตามร้านเกม หรือยกพวกตีกัน ปัญหาเหล่านี้ตราบใดที่ชุมชนและสังคมไม่มีส่วนร่วมในการช่วยกันสอดส่องเป็นหูเป็นตา ป้องกัน และแก้ไขปัญหาก็ยากที่จะทำให้การทำงานของ พสน.ประสบความสำเร็จ

“ยกตัวอย่าง ทุกวันนี้กฎหมายไม่อนุญาตให้เด็กหรือเยาวชน ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปในร้านเกมก่อน 14.00 น. แต่ปรากฏว่า มีร้านเกมไม่น้อยเปิดให้เด็กที่ยังอายุไม่ถึง 18 เข้าไปเล่นได้ทั้งวันทั้งคืน ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของร้านมักเป็นคนมีสี หรือมีตำรวจ ทหารคอยดูแล ไม่ก็เคลียร์ให้”

...

เขาบอกว่านี่คือ 1 ในตัวอย่างปัญหาที่สร้างความอึดอัดใจให้เจ้าหน้าที่

“อีกอย่างที่นักเรียนสมัยนี้มักจะได้ใจ หรือไม่ค่อยให้ความเคารพยำเกรงเชื่อฟังครูในโรงเรียน เหมือนกับเด็กนักเรียนสมัยก่อน ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตั้งแต่กระทรวงศึกษาฯ สั่งให้เลิกใช้ไม้เรียว เวลาครูจะตีเด็ก ก็กลัวตัวเองจะมีโทษทางอาญา จะดุด่าว่าลูกศิษย์ ก็กลัวโดนข้อหาหมิ่นประมาท จะประณามความผิดของเด็กไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง เช่น จับไปยืนหน้าเสาธง ก็กลัวข้อหาทำร้ายจิตใจเด็ก เด็กเลยไม่กลัวครู”

“วงรอบของปัญหาเกิดจากพอเด็กเริ่มไม่กลัวครู เพราะเห็นว่าครูทำอะไรไม่ได้ อย่างมากก็แค่ตัดคะแนนความประพฤติ ปัญหาจึงกระฉอกออกมานอกรั้วโรงเรียน ให้พวกเราต้องคอยตามไล่จับปูใส่กระด้ง การจะอัปเกรดให้งานสารวัตรนักเรียนเข้มแข็งขึ้น นับว่าดี แต่จะไร้ประโยชน์ทันทีถ้าไม่แก้ที่ต้นเหตุของปัญหา” สารวัตรนักเรียน ยุค 4.0 ฝากข้อคิดทิ้งท้าย.