เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 เวลา 08.54 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดและทอดพระเนตรนิทรรศการเทคโนนิทรรศน้อมเกล้า “60 ปี แห่งการสร้างสรรค์ประดิษฐกรรมสู่นวัตกรรม” ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดยมีเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย อุปทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัย ดร.ศิริธัช โรจนพฤกษ์ อุปนายกสภามหาวิทยาลัย ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี พร้อมด้วยผู้บริหาร บุคลากร คณะกรรมการจัดงาน นักเรียน นักศึกษา และประชาชน เฝ้าฯ รับเสด็จ
ในการนี้ ทรงวางพุ่มดอกไม้ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากนั้น เสด็จไปยังอาคารอเนกประสงค์ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัย เฝ้าทูลละอองพระบาท น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ทางการศึกษา เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา โอกาสนี้ พระราชทานโล่เกียรติคุณและของที่ระลึกแก่ผู้มีอุปการคุณแก่มหาวิทยาลัย
ทรงเปิดงานนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มจพ. เทคโนนิทรรศน้อมเกล้า “60 ปี แห่งการสร้างสรรค์ประดิษฐกรรมสู่นวัตกรรม” ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 มีนาคม 2562 เวลา 09.00-16.00 น. เนื่องในโอกาสครบ 60 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ทรงมีต่อมหาวิทยาลัยและปวงชนชาวไทย รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ ภารกิจ ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมนำสมัยของคณาจารย์ นักศึกษา ศิษย์เก่าและเครือข่ายความร่วมมือของมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย อาทิ ดาวเทียม KNACKSAT (แนคแซท) ดาวเทียมเพื่อการศึกษาขนาด 1 กิโลกรัม ที่ออกแบบและสร้างในประเทศไทยโดยฝีมือนักศึกษาและอาจารย์ของ มจพ.ทั้งหมด และได้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศที่วงโคจรระดับความสูง 575 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 ณ ฐานทัพอากาศแวนเด็นเบิร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
หุ่นยนต์ทำลายวัตถุระเบิด DYNA-T ซึ่งได้เริ่มศึกษาวิจัย เมื่อปี 2555 เพื่อสนับสนุนภารกิจของหน่วยทำลายวัตถุระเบิด (EOD) กรมสรรพาวุธทหารบก สามารถยิงกระสุนน้ำแรงดันสูงแบบไร้แรงสะท้อนกลับ ที่ให้ประสิทธิภาพการทำลายล้างภาชนะแผ่นเหล็กห่อหุ้มระเบิดแสวงเครื่องความหนาได้ถึง 2 มิลลิเมตร และ "ยานขับเคลื่อนใต้น้ำแบบมีสายควบคุม" ซึ่งพัฒนาร่วมกับศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมอวกาศและทะเล มาตั้งแต่ปี 2553 เพื่อการบันทึกภาพความละเอียดสูง ลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงานของนักประดาน้ำใต้ทะเล โดยติดตั้งระบบโซนาร์ และระบบวัดความเฉื่อยเพื่อช่วยประเมินสภาพสิ่งแวดล้อมและระยะทางในการเคลื่อนที่ ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลใต้น้ำในพื้นที่ที่มีสิ่งกีดขวางได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยดีเด่นจัดแสดง อีก 6 กลุ่ม โดยในงานได้แบ่งพื้นที่เป็นโซน A, B, C, D, F, I โชว์ผลงานนวัตกรรมของทุกคณะและให้ได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยจริง ประกอบด้วย กลุ่ม Robotic and Automation ผลงาน “หุ่นยนต์ตรวจโซลาร์เซลล์” ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่ม Medical Technology ผลงาน “ระบบชาร์จไร้สายในการผลิตแก้วอัจฉริยะ Loupe” ของคณะวิทยาศาสตร์พลังงานและสิ่งแวดล้อม กลุ่ม Sustainable Society ผลงาน “ต้นแบบเครื่องคัดแยกมังคุดด้วยระบบประมวลผลภาพ” ของคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่ม Digital IT ผลงาน “เรดาร์ทะลุพื้นดินสำหรับการป้องกันการโจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่อง” ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และกลุ่ม Next Generation Vehicle ผลงาน “ระบบควบคุมการขับเคลื่อน และอัดประจุแบตเตอรี่แบบเร็วสำหรับรถสามล้อไฟฟ้า” ของบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ นานาชาติสิรินธรไทย-เยอรมัน และความร่วมมือด้านวิชาการ-ด้านอุตสาหกรรม ผลงาน Robot Academy & Yaskawa EU Project : Curriculum Development of Master’s Degree Program in IE Engineering for Thailand Sustainable Smart Industry-MSIE 4.0 สถาบันการเชื่อมแห่งประเทศไทย บริษัท ชไนเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และในกลุ่มเอสซีจี
เวลา 12.20 น. พระราชดำเนินไปยังลานเฉลิมพระเกียรติ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายกสภามหาวิทยาลัยฯ ผู้บริหาร และเครือข่ายความร่วมทางวิชาการ เฝ้าทูลละอองพระบาทน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการศึกษาที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน และพระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายฤทธิรงค์ อินทรจินดา นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยฯ เฝ้าทูลละอองพระบาทน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายอาคารเรียนประหยัดพลังงาน แบบถอดประกอบ พร้อมด้วยระบบ Solar Roof Top และระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม จำนวน 1 หลัง เพื่อพระราชทานแก่นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นำไปประกอบให้แก่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านปอเล่อ สาขาบ้านนอเปีย ตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษา โดยเป็นอาคารชั้นเดียว ขนาดพื้นที่ 126 ตารางเมตร แบ่งพื้นที่เป็นส่วนจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาและพื้นที่สำหรับเด็กเล็ก เพื่อให้ครูสามารถดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึง ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรุงเทพฯ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง
นอกเหนือจากงานนิทรรศการทางวิชาการแล้ว ยังจัดให้มีการประชุมวิชาการร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน โดยมีการกล่าวถึงประเด็นองค์ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0 รวมไปถึงกิจกรรม Open House เปิดบ้านต้อนรับน้องๆ เพื่อค้นหาคณะที่ใช่สาขาที่ชอบ ทั้ง มจพ.กรุงเทพ มจพ. วิทยาเขตปราจีนบุรี และ มจพ. วิทยาเขตระยอง โดยมีกิจกรรมมากกว่า 100 กิจกรรม และเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้เข้าร่วมประกวดโครงการสะเต็มศึกษาของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า โดยใช้บอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์ ในตอนที่ชื่อว่า “สิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อชีวิต 4.0” การประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ประจำปี 2562 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การบรรยายพิเศษทางวิชาการในหัวข้อเรื่อง “นวัตกรรมและการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่” เพื่อเตรียมพร้อมกับการก้าวสู่ยุคยานยนต์อัจฉริยะและเปิดมุมมองในทุกมิติของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ การประชุมวิชาการ ครุศาสตร์อุตสาหกรรมระดับชาติ ครั้งที่ 11 และระดับนานาชาติ ครั้งที่ 6 รวมทั้งมีกิจกรรมทางวิชาการต่างๆ ตลอดทั้งปี