“ขาดแคลนแรงงาน เกษตรกรต้องหันมาใช้วิธีเผา เพื่อตัดอ้อยได้เร็ว ทันฤดูเปิดหีบของโรงงานน้ำตาล”

ดร.นภสม สินเพิ่มสุขสกุล ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเปิดประเด็นในเวทีเสวนาหัวข้อ เผาอ้อย...ทางเลือก...ทางรอด...? จากผลงานวิจัยที่ลงไปสำรวจในพื้นที่ปลูกและเผาอ้อย

แม้จะมีการแก้ปัญหาด้วยการหักค่าอ้อยไฟไหม้ ในอัตราตันละ 30 บาท ไม่เกิน 120 บาท...แต่ไม่คุ้มค่า ยังไม่จูงใจให้เกษตรกรเลิกเผาได้

จากการลงพื้นที่ออกแบบสอบถามเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่ สุพรรณบุรีและกาญจนบุรี 800 คน พบว่า การเผาอ้อยก่อนตัดสร้างความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ให้กับสุพรรณบุรีฤดูกาลละ 296 ล้านบาท กาญจนบุรี เสียหาย 192 ล้านบาท...นี่ยังไม่รวมถึงความเสียหาย จากการหยุดเรียน ทำความสะอาดโรงเรียน บ้าน และวัด

สาเหตุหลักของการเผาอ้อยมาจากแรงงานไม่ยอมตัดอ้อยสด เพราะ แรงงานไม่ได้ทำงานตัดอ้อยอย่างเดียว ต้องหมุนเวียนไปทำงานอย่างอื่น เช่น ทำนา ก่อสร้าง ฯลฯ เลยทำให้แรงงานเหล่านี้ มีเวลามารับจ้างตัดอ้อยได้ไม่นาน และการตัดอ้อยให้ได้เร็ว ทันเวลาก่อนแรงงานจะหันไปทำงานอย่างอื่น และทันฤดูปิดหีบอ้อย...จึงต้องใช้วิธีการเผาอย่างเดียว

การตัดอ้อยสดให้ค่าแรงตันละ 140-210 บาท แต่ละวันแรงงานแต่ละคนจะได้ไม่เกิน 1-1.5 ตัน...ส่วนตัดอ้อยไฟไหม้ จะได้ค่าแรงตันละ 200-300 บาท ตัดได้คนละ 2-3 ตัน

จะเห็นได้ว่าตัดอ้อยไฟไหม้ แรงงานได้ผลตอบแทนสูงกว่าตัดอ้อยสด และเจ้าของไร่อ้อยได้ผลผลิตไปขายได้มากและเร็วกว่า แม้จะจ่ายแพงกว่า แต่ก็คุ้มค่า ดีกว่าไม่มีแรงงานมาตัดอ้อยเลย

นี่คือปัญหาหลักของการเผาไร่อ้อยที่ก่อให้เกิดฝุ่นควันพิษคลุมเมือง

หนทางแก้ไข รัฐมีนโยบายให้เงินกู้ซื้อรถตัดอ้อย จะแก้ปัญหานี้ได้ดีแค่ไหน...พรุ่งนี้มาว่าต่อ.

...

สะ-เล-เต