กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเฝ้าระวังการระบาดของไรแดง ที่สามารถพบได้ในระยะที่มันสำปะหลังมีอายุประมาณ 3 เดือน

ไรเป็นสัตว์ตัวเล็กจิ๋วสีแดง ถ้าเป็นตัวเดี่ยวๆ มองด้วยตาเปล่าแทบมองไม่เห็น เพราะมีขนาดเท่าปลายเข็ม แต่ด้วยมีนิสัยรวมกันอยู่เป็นกลุ่ม เลยพอจะมองเห็นสีแดงเต็มพรืดไปบนใบมันสำปะหลัง เพื่อดูดกินน้ำเลี้ยง

ไรแดงที่ทำลายมันสำปะหลัง มี 3 ชนิด...ไรแดงหม่อน ไรแดงมันสำปะหลัง และไรแมงมุมคันซาวา

ไรแดงหม่อน... จะดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ใต้ใบแก่และใบเพสลาด หากระบาดรุนแรง ตัวไรจะเคลื่อนย้ายไปดูดกินน้ำเลี้ยงบนยอดอ่อน โดยสร้างเส้นใยปกคลุมใบและลำต้น เมื่อไรเริ่มทำลายจะสังเกตเห็นรอยทำลายเป็นจุดประด่างเหลืองบนผิวด้านบน หากทำลายรุนแรง จะทำให้ใบไหม้ ตรงกลางใบขาดพรุน ใบลู่ลง และเหี่ยวแห้ง

ไรแดงมันสำปะหลัง...จะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณหน้าใบ ไม่สร้างเส้นใย ใบเป็นจุดประสีขาวซีด

ไรแมงมุมคันซาวา...ดูดกินน้ำเลี้ยงใต้ใบ สร้างเส้นใยปกคลุมผิวใบบริเวณที่ไรอาศัยอยู่ หากระบาดรุนแรง ทำให้ใบไหม้ ใบขาดเป็นรูบริเวณใกล้เส้นกลางใบ ส่งผลทำให้ใบไหม้ทั้งแปลง ใบร่วง และแห้งตาย

เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังในช่วงที่มีสภาพอากาศแห้งแล้ง ถ้าพบการระบาดของ ไรแดง ให้เกษตรกรเก็บใบมันสำปะหลังและส่วนที่ถูกทำลายนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก

สำหรับในพื้นที่ที่มีการระบาดของไรแดงอย่างรุนแรง ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าไรที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด ได้แก่ ไพริดาเบน 20% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สไปโรมีซิเฟน 24% เอสซี อัตรา 6 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

ควรพ่นสลับชนิดสารเพื่อป้องกันไรดื้อยา...ไม่ควรพ่นสารชนิดเดียวกันติดต่อเกิน 3 ครั้ง.

สะ-เล-เต

...