ผมเพิ่งบินกลับจาก กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม ด้วยเที่ยวบินทีจี 917 การบินไทย ซึ่งเป็นเที่ยวบินแรกที่บินจาก กรุงลอนดอน สู่ กรุงเทพฯ หลังจากที่ ปากีสถาน ประกาศปิดน่านฟ้าเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ทำศึกเวหากับอินเดีย เป็นเที่ยวบินแรกที่เปลี่ยนเส้นทางบิน จาก กรุงลอนดอน ผ่าน ยุโรป รัสเซีย เข้าสู่ จีน แล้วหักลงใต้ผ่าน เมืองเฉิงตู คุนหมิง หลวงพระบาง เข้าสู่ประเทศไทย โดยไม่ผ่านน่านฟ้า ปากีสถาน อินเดีย ตามเส้นทางบินปกติ ใช้เวลาบินประมาณ 13 ชั่วโมงเศษ ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 18.35 น. จากเวลาปกติ 16.00 น.
วันนี้ ปากีสถานเปิดน่านฟ้าทั้งหมดแล้ว ตั้งแต่เวลา 15.00 น. ไม่มีปัญหาแล้ว
การประกาศปิดน่านฟ้ากะทันหันของปากีสถานเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ทำให้ การบินไทย ต้องยกเลิกเที่ยวบินไปหลายสิบเที่ยว ทั้ง ขาไปขากลับจากยุโรปทุกเส้นทางที่ผ่านน่านฟ้าปากีสถาน มีผู้โดยสารตกค้างที่สนามบินสุวรรณภูมิประมาณ 4,000 คน วันเสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมา การบินไทย ได้จัดเที่ยวบินพิเศษ 4 เที่ยว ระบายผู้โดยสารที่ตกค้างได้อีกพันกว่าคน ล่าสุด คุณสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย เปิดเผยว่า เหลือผู้โดยสารตกค้างอีกประมาณ 200 คน โดยใช้เวลาระบายผู้โดยสารถึง 4 วันเต็ม ไม่นับวันโกลาหล 27 กุมภาพันธ์
คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมการบินไทยจึงไม่มีเส้นทางบินสำรอง เหมือนสายการบินอื่น เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยก็สามารถบินเส้นทางสำรองได้ทันที เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ
กลับมาถึงกรุงเทพฯก็ได้อ่านข่าว การบินไทยขาดทุนอ่วม จากผลประกอบการปี 2561 มีรายได้รวม 199,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,554 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายรวม 208,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,468 ล้านบาท ส่งผลให้ ขาดทุนสุทธิ 11,569 ล้านบาท เป็นการขาดทุนจากผลการดำเนินงานกว่า 9,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2560 ที่ขาดทุน 2,100 ล้านบาท ปีนี้ขาดทุนเพิ่มขึ้น 9,469 ล้านบาท มียอดขาดทุนสะสม 28,296 ล้านบาท
...
คุณสุเมธ แถลงว่าการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 เดือนเมษายนนี้ จะเสนอขออนุมัติให้โอน “ทุนสำรองตามกฎหมาย” และ “ส่วนล้ำมูลค่าหุ้น” ไป ตัดขาดทุนสะสม 28,000 ล้านบาท ทำให้เหลือขาดทุนสะสม 296 ล้านบาท หากปีนี้มีกำไรมากกว่า 300 ล้านบาท จะจ่ายเงินปันผลได้ ผมอ่านแล้วก็งงๆ ถ้า การบินไทย สามารถเอา “ทุนสำรองตามกฎหมาย” ของบริษัทไป “ตัดขาดทุนสะสม” ได้ บริษัททั่วไป บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อื่น ก็ควรทำได้เช่นเดียวกัน เศรษฐกิจประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ไม่อยากจะนึก
สาเหตุที่ทำให้ การบินไทย ขาดทุนมากมาย คุณสุเมธ เปิดเผยว่า มาจากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 9,881 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.79% จากราคาน้ำมันเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 30.1% และ ค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มขึ้นอีก 9,802 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% เช่น ค่าซ่อมแซม ค่าบำรุง ค่าเช่าเครื่องบิน ค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากการขายตั๋วในต่างประเทศ ฯลฯ
การขาดทุนเพราะ ค่าน้ำมันแพงขึ้น ไม่ใช่เหตุผลครั้งแรก ที่ผ่านมาการบินไทยก็มีกรณีขาดทุนเพราะน้ำมันแพงบ่อยครั้ง เพราะ ซื้อน้ำมันแพงกว่าสายการบินอื่น เรื่องการซื้อน้ำมันของสายการบิน เป็นเรื่องคลาสสิกที่ล้ำลึกมาก เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นสิ่งที่คาดการณ์ยาก การซื้อน้ำมันเครื่องบินก็เหมือนการซื้อหุ้น เคาะซื้อห่างกันลอตเดียวราคาก็ต่างกันแล้ว ก็ไม่รู้ การบินไทยซื้อน้ำมันเครื่องบินจากบริษัทน้ำมันไหนบ้าง ผู้ถือหุ้นน่าจะมีการซักถามให้ชัดเจนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเดือนเมษายนนี้ รวมทั้ง คดีทุจริตโรลส์รอยซ์ ที่คาราคาซังมานาน เพราะการบินไทยกำลังจะซื้อเครื่องบินใหม่อีก 38 ลำ วงเงิน 200,000 ล้านบาท และจะ ซื้อเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์ อีก
นับตั้งแต่ การบินไทย เข้าตลาดที่หุ้นละ 60 บาท ราคาหุ้นไม่เคยกลับขึ้นไปถึง 60 บาทอีกเลย ยิ่งอ่านเหตุผลที่ขาดทุนซ้ำซากก็ยิ่งเชื่อว่า การบินไทยทำกำไรได้ยาก เว้นแต่จะ ยื่นล้มละลาย แล้ว ฟื้นฟูบริษัทใหม่ แบบ เจแปน แอร์ไลน์ ไม่งั้นไม่มีทางสำเร็จ แต่ก็ขอให้กำลังใจ คุณสุเมธ ดำรงชัยธรรม ดีดีคนใหม่ก็แล้วกัน.
“ลม เปลี่ยนทิศ”