แม้ “เสม็ดชุน” ไม่ใช่ของแปลกใหม่ แต่เด็กรุ่นหลังไม่ค่อยรู้จัก

ผิดกับคนดูแลควายในทะเลน้อย จ.พัทลุง วันไหนไล่ต้อนควายลงไปหากินหญ้ากลางทะเลน้อย เจอต้นเสม็ดชุนกำลังออกผลสีขาวสะพรั่ง ถือว่าโชคดี ได้ผักเคียงชั้นเลิศไปจิ้มน้ำพริกกินมื้อต่อไป

ไคร้เม็ด ยีมือแล เม็ดชุน ล้วนเป็นชื่อเรียก เสม็ดชุน เป็นไม้ยืนต้นสูงได้ถึง 20 ม. ขึ้นตามป่าพรุที่มีความอุดมสมบูรณ์ พบได้ทั้งในอินเดีย พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์... ส่วนประเทศไทยพบได้ในบริเวณที่มีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ ตามที่โล่งแจ้งและบริเวณหลังป่าชายเลน ที่ระดับใกล้น้ำทะเลจนถึง 1,400 เมตร

ทั้งนี้ในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม เสม็ดชุนจะเริ่มติดดอก กลีบดอก 5 กลีบ ช่อดอกยาว 8-12 ซม. ฐานรองดอกรูปถ้วย ปากแคบ ขนาด 4-10 มม. แล้วเปลี่ยนเป็นผลสีขาวขุ่น ทรงกลม ขนาด 8-12 มม. เสม็ดชุนรสชาติคล้ายผลชมพู่อ่อน ออกเฝื่อนๆ มีความชุ่มคอ ช่วยให้ลมปากมีกลิ่นหอม

ชาวปักษ์ใต้มักนิยมนำผลเสม็ดชุนมารับประทานเป็นผักสดกับน้ำพริก ลาบ ยำ ผักเคียงรับประทานกับขนมจีน

ส่วนใบเมื่อนำมาขยี้จะมีน้ำมันและมีกลิ่นคล้ายการบูร คนโบราณนำมาใช้น้ำมันนวดแก้เมื่อย ปวดบวม แก้หมัด เหา ชุบสำลีอุดฟันแก้ปวดฟัน กินเป็นยาขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบ ขับลม

นอกจากนั้น น้ำมันใบเสม็ดยังมีฤทธิ์ใช้ไล่แมลง ยุง เห็บ หมัด เหา ปลวก รวมทั้งทากดูดเลือดได้อีกด้วย

ดร.เชิดศักดิ์ เกื้อรักษ์ คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ให้ข้อมูลเพิ่ม...น้ำมันเสม็ดยังมีฤทธิ์ช่วยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดสิวได้ดี จึงมีการนำใบเสม็ดมาต่อยอดนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ป้องกันสิว เช่น สบู่เหลวล้างหน้าป้องกันสิว เป็นต้น.