วัน “กำพล วัชรพล” ปี พ.ศ. 2561 เป็นปีพิเศษเนื่องจากเป็นปีเฉลิมฉลอง “100 ปีชาตกาล ผอ.กำพล วัชรพล” ในโอกาสองค์การยูเนสโก (UNESCO) ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านสื่อสารมวลชนและการศึกษา

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานกรรมการ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาปาฐกถาเรื่อง “ปฏิรูปแล้วการศึกษาของไทยจะดีขึ้นอย่างไร” ให้คณาจารย์ ครูโรงเรียนไทยรัฐวิทยา และพนักงานในเครือไทยรัฐฟัง ณ ห้องประชุมชั้น 9 อาคาร 9 สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ผอ.กำพล วัชรพล “ท่านเป็นครูให้กับการพัฒนาการศึกษามาก่อน และเราต้องพัฒนาต่อเพราะโลกเปลี่ยนแปลงไป”

นพ.จรัสบอกและอธิบายต่อว่า ผอ.กำพลท่านทำคุณประโยชน์ต่อโลกมากมาย ท่านทำหนังสือพิมพ์ ก่อตั้งมูลนิธิไทยรัฐให้ดูแลโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเพื่อการศึกษาของเด็กๆ และยังให้รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น ผลงานของท่านเป็นประโยชน์ต่อโลก จนกระทั่งได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

โรงเรียนไทยรัฐวิทยาเริ่มเมื่อปี พ.ศ.2512 ท่านเห็นความจำเป็นเรื่องการศึกษา และเปิดโอกาสให้เด็กๆที่อยู่ในถิ่นห่างไกลได้รับการศึกษา จึงเริ่มสร้างโรงเรียนไทยรัฐวิทยาในที่ห่างไกลความเจริญ โรงเรียนไทยรัฐวิทยาเกิดมา 50 ปีแล้ว ปัจจุบันเราเห็นว่าการศึกษามีความจำเป็น ขณะที่ท่านกำพล วัชรพล เห็นความสำคัญนี้มานานแล้ว เรื่องนี้เกิดจากการมองการณ์ไกลของท่าน

แรกๆท่านก็แค่ก่อสร้าง ต่อมาก็นำกิจกรรมส่งเสริมการเรียนเข้าไปในรูปแบบต่างๆทำให้คุณภาพทางการศึกษาดีขึ้นทั้งในด้านวิชาการ และความคิดในเรื่องการให้ความร่วมมือ แม้กับชาติต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้โรงเรียนไทยรัฐวิทยาที่สร้างขึ้นมาทำประโยชน์ได้มากมาย

มองไปที่การปฏิรูปการศึกษาในรัฐธรรมนูญมีข้อกำหนดในการปฏิรูปว่า ต้องเป็นความต้องการของสังคม ปัจจุบันการศึกษาคุณภาพต่ำ ไม่ได้มาตรฐาน มีความเหลื่อมล้ำกันมากเป็นทุกข์ของชาติทุกข์ในการศึกษาไทย อย่างในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลความเจริญ พ่อแม่อยากให้ลูกๆพ้นไปจากความยากจน แต่เมื่อลูกเข้าโรงเรียนที่ไม่มีคุณภาพ ลูกก็ยากจนตามพ่อแม่ไปอีก ประการต่อมาเรื่องการแข่งขัน เราแข่งขันกับเขาไม่ได้ เพราะคุณภาพการศึกษาของเราด้อยคุณภาพ

ค่าเฉลี่ยการศึกษาเราต่ำทุกวิชา เพราะหลักสูตรเราเน้นเนื้อหาท่องจำ แม้บางคนไปได้ดี แต่หลายคนก็มีปัญหา เรื่องนี้โรงเรียนไทยรัฐวิทยาเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำให้โรงเรียนดีขึ้น จนไทยรัฐวิทยาหลายแห่งสามารถแข่งขันระดับชาติได้

ส่วนนักเรียนเราแรกๆไปแข่งกับต่างชาติแพ้หมดเลย “สมเด็จพระเจ้าพี่นางฯ” โปรดให้จัดการศึกษาแบบนานาชาติ เราก็เอาเด็กมาอบรม เมื่อแข่งขันเด็กไทยจึงได้มาเป็นแถวเลย เรื่องนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเด็กเรามีความสามารถ แต่เด็กเราขาดโอกาสเท่านั้น

เรื่องคณิตศาสตร์เรา 40 เปอร์เซ็นต์อ่อน เวียดนามมี 10 เปอร์เซ็นต์ จากข้อมูลสรุปได้ว่า นักเรียนที่จบการศึกษาไปส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือและเป็นแรงงานไม่มีหัวคิด เป็นทุกข์จริงๆโรงเรียนยิ่งใหญ่ยิ่งดี ปัญหาอยู่ที่โรงเรียนเล็กๆ พวกชายขอบก่อนๆก็เหมือนกัน

ไทยเรามีความอุดมสมบูรณ์ทุกอย่าง มีความเป็นอิสระ มีสถาบันดีๆ แต่ทำไมเราแพ้คนอื่น ขณะที่การค้าขายเราดี แต่การศึกษากลับเป็นอันดับ 56 ของโลก แสดงว่าการศึกษาของเราเป็นตัวถ่วง เราเป็นทุกข์ แล้วทุกข์มันหนัก ปัญหาคือเราจะทำอย่างไร เราเคยปฏิรูปการศึกษาก็ดีขึ้นมาหลายอย่าง แต่ไม่สำเร็จทั้งหมด

ในอีก 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า การปฏิรูปของเราในครั้งนี้ถ้าไม่สำเร็จเราจะทำอย่างไร เราจะอยู่ที่ไหน ดังนั้นเราต้องไปข้างหน้าและทำให้สำเร็จให้ได้ ไทยรัฐวิทยาเองก็ทำให้สำเร็จได้ ทำไมโรงเรียนเล็กๆเอามาทำให้เกิดคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้จะต้องสำเร็จ เพราะมันจำเป็นและในรัฐธรรมนูญก็กำหนดให้เราทำ เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ต้องเปลี่ยนสภาพเก่าๆไปสู่ความหวังใหม่ เพราะโลกเปลี่ยน โลกในศตวรรษที่ 21 มนุษย์ไม่เหมือนเดิมแล้ว

ความรู้ในปัจจุบันเราแค่กดปุ่มก็หาได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเป็นคนที่อยู่ในโลกอนาคต กรรมการปฏิรูปพยายามมองว่าจะสำเร็จได้อีก 10 ปีข้างหน้า การศึกษาเราต้องเทียบสากลได้จะต้องไม่มีความเหลื่อมล้ำ

ทุกคนต้องมีโอกาสได้เรียนรู้เต็มความสามารถของแต่ละคน และแข่งขันได้ อีก 10 ปีข้างหน้าการศึกษาต้องเกิดผลสัมฤทธิ์ได้

เราจะทำอย่างไรกับ พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ สิ่งสำคัญต้องเปลี่ยนความคิดของคน ต้องคิดใหม่ ถ้ากฎหมายนี้ออกมาการศึกษาก็จะมุ่งไปสู่ความสำเร็จได้ และไปกับการปฏิรูปประเทศ

มองเข้าไปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มองการศึกษาว่าเป็นการศึกษาตลอดชีวิต เริ่มตั้งแต่ก่อนเกิดไปจนถึงเสียชีวิต เพราะฉะนั้นต้องมีสิทธิในการศึกษาทุกกลุ่ม ทุกคน ทุกวัย การแก้ไขมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษามาช่วยโดยเฉพาะเด็กๆที่หลุดจากการศึกษาไป เพื่อให้เขาเข้าถึงการศึกษาได้

ยังมี พ.ร.บ.พัฒนาเด็กปฐมวัย เพราะการศึกษามีมาตั้งแต่ในท้อง เข้าอนุบาลต้องพัฒนาส่วนต่างๆ ต้องให้ความสนใจกับการศึกษาระดับอนุบาล เด็กปฐมวัยต้องเรียนรู้อย่างมีความสุข มีความสุขกับการเล่น และการที่จะให้สอบเข้า ป.1 นั้นไม่จำเป็นต้องสอบ เพราะเด็กเก่งกับเด็กไม่เก่งควรอยู่ด้วยกัน สังคมใหม่ถึงจะพัฒนาได้ คนอยู่ด้วยกันได้

ด้านการเรียนรู้ภาษาต้องเรียนตั้งแต่ยังเด็ก เด็กเล็กๆมีทุกเสียงในโลก ความสามารถในการเรียนรู้ภาษานั้นจะหายไปเมื่อเติบโต การเรียนภาษาเมื่อโตสำเนียงจะไม่เกิด เราต้องเริ่มให้เรียนรู้ภาษามาตั้งแต่เด็กๆ

ระบบความคิดของครู คุณภาพของครู คุณภาพชีวิตครู เป็นปัญหาที่รุนแรง ทำให้การศึกษาไทยไม่ดีเท่าที่ควร จึงมีการแก้ไขเรื่องครูด้วยเช่นกัน

จุดสำคัญคือการให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการปฏิรูป ท่านกำพล วัชรพล ท่านให้ความสำคัญกับโรงเรียน ครู และการศึกษาเรียนรู้ด้วยความตั้งใจและเสียสละ ครูในโรงเรียนก็มีอิสระในการจัดกิจกรรม และได้รับการสนับสนุนในหลายๆอย่างเพื่อให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพ และความสามารถยิ่งขึ้นไป

ในรัฐธรรมนูญ โรงเรียนจะปรับปรุงอย่างไร ครูมีส่วนสำคัญ คุณภาพของโรงเรียนเป็นไปตามการตัดสินใจของโรงเรียนนั้นๆ เรื่องกิจกรรมและคุณภาพการศึกษานี้ เคยมีบางโรงเรียนไม่ให้เด็กที่มีผลการศึกษาต่ำสอบโอเน็ตเพื่อไม่ให้คะแนนเฉลี่ยของโรงเรียนต่ำ เท่ากับว่าเด็กโง่ไม่ต้องสอบ เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข

สำหรับการศึกษาต่อไปนี้ หลักสูตรต้องเปลี่ยนจากการท่องจำ การเรียนภาษาต้องเป็นภาษาเพื่อการสื่อสาร สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

ไม่ต้องรู้แบบท่องจำ บทเรียนในสมัยใหม่นี้มีมากมาย บทเรียนเหล่านั้นควรเข้าถึงง่าย และควรยืมได้ง่ายเหมือนยืมมือถือ

โรงเรียนไทยรัฐวิทยาก้าวมาพอสมควร ในเรื่องเครื่องมือเหล่านี้จะชนะใครก็ได้ เพราะฉะนั้นการปฏิรูปการศึกษาต้องปฏิรูปพร้อมๆกันในหลายส่วน ต้องมาช่วยกันคิดว่าควรจะเป็นอย่างไร การศึกษาไม่ใช่ของรัฐทั้งหมดอีกต่อไปแล้ว จำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน จึงจะปฏิรูปการศึกษาได้

กรณีบางโรงเรียนมีนักเรียนน้อยแล้วยุบโรงเรียน จริงๆบางแห่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโรงเรียนตั้งมา 60-100 ปี ชาวบ้านยังรักยังหวงอยู่ การศึกษาต้องไปด้วยกันระหว่าง “บ” บ้าน “ว” วัด และ “ร” โรงเรียน วัดจำเป็นเพราะเด็กต้องมีจริยธรรม โรงเรียนก็จำเป็น มีความจำเป็นพื้นฐานอาคาร บุคลากร แม้โรงเรียนเล็กๆ ครูมีน้อย ครูต้องสอนทุกวิชา แต่ถ้าครูใฝ่ศึกษาจะสอนกี่วิชาก็ได้

นพ.จรัส สุวรรณเวลา สรุปปาฐกถาตอนท้ายว่า “คนในอนาคต ความรู้สำคัญน้อยกว่าความสามารถ”.