โยนบอร์ดนโยบายฯทำคลอดเกณฑ์ เชื่อมั่นไม่ขัดต่อหลักการพัฒนาเด็ก
ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ฐานะรองประธานกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สนช. เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนช.ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ...ในวาระ 2 และ 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รอประกาศราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลใช้บังคับใช้ต่อไป สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่าน สนช.ท้ายที่สุดแล้วเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่บอกว่า การพัฒนาเด็กปฐมวัยควรเป็นเรื่องของการดูแลและพัฒนา ไม่ใช่เรื่องการจัดการเรียนการสอนหรือจัดการศึกษา ดังนั้นวิธีการคัดเลือกเด็กเข้าสู่การพัฒนาให้สมวัยจึงไม่ควรใช้การสอบข้อเขียน โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การรับนักเรียนระดับปฐมวัยว่าควรเป็นอย่างไร โดยที่ไม่ขัดต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย
รศ.นพ.เฉลิมชัยกล่าวอีกว่า ร่างเดิมของ กอปศ.เสนอไม่ให้มีการสอบคัดเลือกเด็กอนุบาลและป.1 โดยระวางโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตัดประเด็นดังกล่าวออก แต่ในขั้นกรรมาธิการได้มีการเติมถ้อยคำห้ามมีการสอบกลับเข้าไป เมื่อถึง สนช.ตนได้อภิปรายถามความชัดเจนว่าการสอบหมายถึงอะไร ปรากฏว่ากรรมาธิการก็เห็นไม่ตรงกันบางส่วนบอกว่าไม่ให้มีการสอบข้อเขียน ขณะที่บางส่วนบอกว่าไม่ให้สอบทุกอย่าง รวมไปถึงการประเมินความพร้อม เมื่อความเห็นไม่ตรงกันตนจึงเสนอให้ตัดคำว่าห้ามสอบออก ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสนับสนุนให้มีการสอบ แต่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำการออกหลักเกณฑ์การคัดเลือกเด็กปฐมวัยที่ไม่ขัดต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาเด็กปฐมวัย
...
“การกำหนดไม่ให้มีการสอบตีความได้ 2 ทางคือ ห้ามสอบข้อเขียน กับห้ามการสอบคัดเลือกทุกชนิด ซึ่งตรงนี้ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ เพราะร่างเดิมของ กอปศ.คือไม่ให้มีการสอบข้อเขียนเพื่อเด็กจะได้ไม่ต้องติว ส่วนวิธีดูความพร้อมอื่น เช่น ทานข้าวเอง ผูกเชือกรองเท้าเอง ติดกระดุมเสื้อเอง เป็นต้น เหล่านี้ไม่ได้ขัดต่อพัฒนาการ อย่างไรก็ตาม เมื่อร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยออกมาในลักษณะนี้ถือว่าตรงตามเจตนารมณ์ของ กอปศ.แล้ว” รศ.นพ.เฉลิมชัยกล่าว.