"ประยุทธ์"ชู แก้เหลื่อมล้ำการศึกษา ด้วยแนวทางเสมอภาค กสศ.ชวนนักเรียน ม.3,ม.6,ปวช.3 ยากจนแต่เรียนดี มีความสามารถ สมัครทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ.รุ่นแรกปี 62 รับ 2.5 พันคน ตอบโจทย์ตลาดแรงงานและเศรษฐกิจในอนาคต
วันที่ 15 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวผ่านรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ถึงเรื่องการศึกษา ตอนหนึ่งว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้แก้ปัญหาที่หมักหมมมานานนับสิบๆ ปี พร้อมทั้งวางรากฐานการพัฒนา เพื่อวันข้างหน้า ผ่านโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลทรัพยากรของชาติ โดยเฉพาะในส่วนที่น้อยคนนักจะมองเห็น หรือให้ความสนใจ ได้แก่ กองทุนส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาในการที่จะดูแลทรัพยากรมนุษย์ของเรา เป็นการขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ท่านรู้หรือไม่ว่าในแต่ละปี มีเด็กไทยมากกว่า 670,000 คน หลุดออกจากระบบการศึกษา เพียงเพราะความยากจน
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า เด็กเยาวชนยากจนที่สุดของประเทศมีโอกาสเรียนต่อระดับอุดมศึกษาเพียง 5% เพราะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ครัวเรือน นักเรียนอายุ 15 ปีในชนบทมีความรู้ความสามารถล้าหลังกว่านักเรียนในเมืองใหญ่เกือบ 2 ปีการศึกษา โดย กสศ. ได้เล็งเห็นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ ต้องแก้ไขด้วยแนวทางเสมอภาค เพราะเด็ก เยาวชนแต่ละคนมีความจำเป็นและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาไม่เท่ากัน ความเท่าเทียมในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาจึงไม่อาจเพียงพอ แต่ต้องอยู่บนหลักการของความเสมอภาค ที่คำนึงถึงข้อมูล ความจำเป็นและปัญหาของผู้เรียนแต่ละคนโดยเฉพาะบริบทของพื้นที่ซึ่งแตกต่างกัน กสศ. จึงเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน ด้วยการใช้ความรู้เป็นตัวนำ มีสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผลิตองค์ความรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศโดยร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยระดับนานาชาติ พัฒนาต้นแบบหรือนวัตกรรมปฏิรูปที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปขยายผล และเสนอแนะมาตรการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย พร้อมกับระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งล่าสุด คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา เกี่ยวกับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่ กสศ. สามารถหักลดหย่อนได้เป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาคสำหรับบุคคลธรรมดา ส่วนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักเป็นรายจ่ายได้เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
...
นพ.สุภกร กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงานที่สำคัญเป็นรูปธรรม คือการทำงานร่วมกันระหว่าง กสศ. กับ สพฐ. ในการดำเนินการคัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษ และจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไขในปีการศึกษา 2561 จำนวน 1,600 บาทต่อคนให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษจำนวนทั้งสิ้น 517,004 คน ใน 26,557 สถานศึกษาสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ และมีแผนจะขยายผลไปสู่สถานศึกษาสังกัด อปท. และ ตชด. อีกราว 2,200 แห่งทั่วประเทศต่อไปในปีการศึกษา 2562 เรื่องนี้ถือเป็นปฏิรูปกระบวนการจัดสรรงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแก่นักเรียนยากจนที่สุดในระบบการศึกษา ทำให้ สพฐ. เป็นหน่วยผู้จัดการศึกษาแรกในประเทศไทย ที่สามารถจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนตามอุปสงค์ (Demand-side Financing) ตรงตามความต้องการของนักเรียนเป็นรายบุคคล
ผจก.กสศ. กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากนี้ข้อค้นพบจากผลการสอบ PISA (Program for International Student Assessment) พบว่าประเทศไทยมีเด็กกลุ่มช้างเผือก หรือ Resilient Student หรือนักเรียนที่มีระดับเศรษฐฐานะต่ำสุด 25% ของประเทศ แต่สามารถทำคะแนนสอบได้เป็นกลุ่มสูงที่สุด 25% ของโลก เป็นเด็กที่สามารถเอาชนะอุปสรรคในชีวิตได้จำนวนราว 3.33% แต่หากขจัดอุปสรรคด้านทุนการศึกษา จำนวนนักเรียนช้างเผือกของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 18% กสศ. จึงได้มีโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สนับสนุนให้เยาวชนชั้น ม.3/ม.6/ปวช.3 ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้อยโอกาส แต่มีศักยภาพ ปีละประมาณ 2,500 คนในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ได้รับโอกาสศึกษาต่อสายอาชีพ ในสาขาเป้าหมายของประเทศ สาขาขาดแคลน สาขา STEM และเทคโนโลยี ดิจิทัล ซึ่งทุกสถาบันการศึกษาที่ร่วมโครงการจะพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการโดยตรง ทั้งในและต่างประเทศ จึงมั่นใจได้ว่าเมื่อเรียนจบแล้วมีโอกาสได้งานทำทันที เพราะเป็นสาขาที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานและเศรษฐกิจในอนาคต ที่สำคัญคือ ตรงกับความฝันและความสนใจของผู้เรียนอีกด้วย
"ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนนอกจากจะสร้างกำลังคนรุ่นใหม่สายอาชีพราวรุ่นละ 2,500 คนแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสสู่การศึกษาระดับสูงแก่นักเรียนที่มีศักยภาพ แต่มีอุปสรรคทางรายได้ของครอบครัว โครงการยังมุ่งปฏิรูปการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาสายอาชีพให้สามารถผลิตกำลังคนที่สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิตและภาคธุรกิจ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งผลตอบแทนของโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูงถือว่ามีความคุ้มทุนอย่างมาก จากนักเรียนผู้รับทุน 2,500 ทุนในปีแรก จากข้อสมมุติฐานว่าผู้รับทุนทุกคนได้ทำงานหลังจบการศึกษาจนถึงเกษียณอายุ 60 ปี จะคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV ) ประมาณ 10,000 ล้านบาท" นพ.สุภกร กล่าว
ทั้งนี้ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงได้เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.-18 มี.ค. 62 โดยเยาวชนที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติม รายชื่อสถาบันสายอาชีพที่ร่วมโครงการและสาขาที่เปิดรับ ได้ที่เว็บไซต์ www.eef.or.th