ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการแก้ปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำที่เกิดจากความร่วมมือของทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรผู้เลี้ยง ทำให้ราคาไข่ไก่ฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากคนในวงการไข่ไก่ต้องแบกรับภาระขาดทุนมานานกว่าปีครึ่ง

ท่ามกลางความร่วมมือฝ่าฟันปัญหาครั้งนี้ มีประเด็นหนึ่งน่าสนใจและสอดคล้องกับการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ ด้วยการนำเข้าไก่ไข่ระดับปู่ย่าพันธุ์ (GP) เพื่อนำมาผลิตเป็นพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ใช้เองในประเทศ...โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ

เรื่องนี้เป็นแนวคิดของผู้บริหารซีพี ผู้นำเข้า GP รายเดียวของไทย แม้รู้ทั้งรู้ว่าเป็นเรื่องยาก ไม่เหมือนการเลี้ยงไก่ทั่วไป แต่เมื่อมองลึกไปถึงสาเหตุว่าทำไมบริษัทนี้ถึงลงทุนนำเข้า GP มาผลิต PS จึงถึงบางอ้อ เพราะเกิดจากความหวั่นเกรงว่าหากมีโรคระบาดเกิดขึ้น อุตสาหกรรมไข่ไก่ย่อมได้รับผลกระ-ทบโดยตรง

เห็นได้จากปี 2558 เกิดวิกฤติไข้หวัดนกระบาดในสหรัฐฯรุนแรงที่สุดเท่าที่สหรัฐฯเคยพบมา ทำให้ไทยต้องชะลอการนำเข้า PS จากสหรัฐฯและประเทศในแถบยุโรปอีกหลายประเทศ ส่งผลให้จำนวนไก่ PS ลดลง กระทบต่อปริมาณไข่ไก่ในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อเสนอที่ให้บริษัทผู้ประกอบการนำเข้า PS ในประเทศ 15 ราย รวมตัวกันนำเข้าและเลี้ยง GP เพื่อผลิต PS ใช้เอง จะช่วยสร้างเสถียรภาพให้อุตสาหกรรมไก่ไข่ของประเทศ และยังช่วยประหยัดเงินตราไม่ให้รั่วไหลออกนอกประเทศ ที่สำคัญยังเป็นการสร้างความมั่นคงในอุตสาหกรรม เพราะไม่ต้องพึ่งการนำเข้า ไม่ต้องผูกอนาคตไว้กับต่างชาติ โดยมีกรมปศุสัตว์เป็นผู้กำกับดูแล

เรื่องนี้จึงกลายเป็นความมั่นคงในอุตสาหกรรม ไม่ใช่เฉพาะซีพีบริษัทเดียว ยังเป็นของทุกบริษัท และของเกษตรกรทุกคนด้วย นับเป็นอีกแนวคิดในการแก้ปัญหาปริมาณผลผลิตไข่ไก่ ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่อีกทางหนึ่ง

...

แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครกล้าลงทุนเลี้ยงปู่ย่าพันธุ์ GP เพราะการลงทุนค่อนข้างสูง กระบวนการเลี้ยง บริหารจัดการ ยากกว่าการเลี้ยงไก่ไข่ทั่วไปมาก แต่ไม่น่าจะเกินความสามารถของเกษตรกรไทย ขอแค่ร่วมมือร่วมใจและตกลงกันให้ดี เชื่อว่านี่จะกลายเป็นอีกทางออกเพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมไก่ไข่ไทย.

สะ-เล-เต