ในปี พ.ศ.2508 เกิดความแห้งแล้งทุรกันดารแผ่ไปทุกหย่อมหญ้า ไม่เว้นแม้แต่ชาวบ้านใน ต.กุดพิมาน อ.บ้านไร่ จ.นครราชสีมา
หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ทนเห็นความยากลำบากของชาวบ้านไม่ไหว กล่าวกับคนใกล้ชิดว่า “คอยเทวดาฝ่ายเดียวคงไม่ไหว” จึงได้ชักชวนญาติโยมให้ช่วยกันพึ่งพาตนเองด้วยการสร้างแหล่งน้ำให้ถาวรเพื่อให้เพียงพอในการอุปโภคบริโภค
“กูจะขุดสระน้ำให้ใหญ่ ที่ดินของวัดก็มีมากมาย กว้างขวางพอจะทำได้ กูจะสร้างทั้งๆที่ไม่มีเงินนี่แหละ ก็ขุดมันเอง เดี๋ยวก็เสร็จสักวัน กูจะทำให้ชาวบ้านเพื่อตอบแทนข้าวน้ำที่เขาให้กูกินทุกวัน” หลวงพ่อคูณลั่นวาจากับญาติโยม ก่อนจะช่วยกันลงมือขุดสระน้ำ
กระทั่งในปี 2509 ชาวบ้านไร่ ต.กุดพิมาน จึงได้สระน้ำขนาด 35 ไร่ 3 งาน 92 ตารางวา ซึ่งสระดังกล่าวเกิดขึ้นจากความศรัทธาและบุญบารมีของ หลวงพ่อคูณ อย่างแท้จริง ก่อนจะขยายเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ทำให้ชาวบ้านใน ต.กุดพิมาน มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอ ไม่ต้องนั่งรอเทวดาฟ้าดินอีกต่อไป
...
นอกจากนี้ หลวงพ่อคูณ ยังได้บริจาคเงินให้กับหน่วยงานต่างๆไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างวัด โรงเรียนวัดบ้านไร่ โรงเรียนในประเทศจีน โรงพยาบาลด่านขุนทด ที่ว่าการอำเภอเทพารักษ์ ที่ว่าการอำเภอหนองบุญมาก สถานีตำรวจ รวมทั้งปัจจัยต่างๆทั้งในและต่างประเทศ รวมแล้วคาดว่ามากกว่า 5,000 ล้านบาท
หลวงพ่อคูณ ยังได้ดำริให้มีการก่อสร้างวิทยาลัยเทคนิคเป็นของอำเภอ เพื่อให้ลูกหลานมีที่เรียนใกล้บ้าน และหางานทำได้ง่าย ชื่อว่า “วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ” ตั้งอยู่หมู่ 6 ต.ด่านขุนทด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งหมดเกือบ 500 ล้านบาท และยังมีการก่อสร้าง อาคารต่างๆเพิ่มเติมเรื่อยมา ตั้งแต่มีการประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2537 เป็นต้นมา
อีกทั้งยังได้บริจาคเงินอีก 50 ล้านบาท ให้เฉพาะการสร้าง ธนาคารสมอง (ห้องสมุด) ของวิทยาลัยเป็นการจำเพาะเจาะจง พร้อมกันนี้ท่านยังให้คำขวัญสั้นๆกับวิทยาลัย แต่ได้ใจความว่า “ศิษย์ก็อยากรู้ ครูก็อยากสอน” เพื่อให้ทั้งครูและลูกศิษย์มีความตั้งใจทั้งการเรียนการสอน ได้รับการยกย่องว่าเป็นวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดและสวยที่สุดในประเทศไทย มีนักศึกษาเข้าเรียนหลายพันคน
ทุกเช้าหลังจากเข้าแถวเคารพธงชาติ นักศึกษาจะยืนสงบนิ่งรำลึกถึงบุญคุณ หลวงพ่อคูณ ต่อหน้ารูปปั้นหลวงพ่อคูณที่ตั้งเด่นอยู่ด้านหน้าอาคารเรียน ลักษณะยืนถือไม้กระบองสำหรับเคาะศีรษะ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่ หลวงพ่อคูณ ท่านได้ทำไว้กับแผ่นดินอีสาน ท่านไม่เพียงเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติเด่น แต่ท่านยังเป็นพระนักพัฒนา ดั่งที่ท่านได้ลั่นวาจาเอาไว้ในวันที่ท่านเดินทางไปยังวัดบ้านไร่ครั้งแรกว่า
“แผ่นดินเกิดมีแต่ความแห้งแล้ง พี่น้องญาติโยมลูกหลานมีแต่คนยากจน ถ้ากูไม่ทำแล้วใครจะทำ”.