เมื่อครั้งวัยเยาว์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงเล่นกับรัชกาลที่ 8 และพระพี่นาง ด้วยเครื่องเล่นอย่างง่ายๆที่สมเด็จย่าทำให้จากสิ่งของที่มีอยู่ตามธรรมชาติใกล้ตัว เช่น กองดินกองทราย ปีนต้นไม้ ปีนเชือก หรือ สระว่ายน้ำ

แค่มีของมาลอยน้ำทั้งสามพระองค์ก็ละเล่นอย่างมีความสุข...การละเล่นของพระองค์ได้เป็นแบบอย่างการเล่นของเด็กไทย ว่าพัฒนาการดีได้ต้องมาจากการเล่นอย่างสนุกและมีความสุข ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องเล่นราคาแพงหรือใช้เทคโนโลยีเสมอไป มูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา จึงได้นำการเล่นของรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวคิดในการออกแบบ “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” ที่สร้างปัญญา เสริมสร้างพัฒนาการให้เด็กได้ทุกช่วงอายุ

สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา มี 5 ฐานการเล่นที่สำคัญได้แก่ 1.สระน้ำอินจัน ช่วยฝึกสมองท้ายทอย ทรงตัว 2.สระน้ำลาดต่างระดับตามช่วงวัยที่เหมาะสม 3.ค่ายกล ฝึกปีนป่าย 4.เรือสลัดลิง สร้างจินตนาการ และ 5. สระหัดว่ายน้ำ ช่วยให้เด็กว่ายน้ำเป็น สามารถช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้

“สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา คือสนามเด็กเล่นที่ใช้เครื่องเล่นตามธรรมชาติ มีอิสระ เป็นเครื่องเล่นปลายเปิด คือ ไม่ต้องสมบูรณ์แบบมากมายหรือเป็นเครื่องเล่นที่เล่นในลักษณะเดียว แต่ให้ผู้เล่นได้คิดได้ดัดแปลงวิธีการเล่นด้วยตัวเอง” อาจารย์ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ว่า

...

“การใช้ธรรมชาติ ต้นไม้ ใบหญ้า ดินทราย เป็นหลัก คือวัตถุดิบที่ไม่ต้องลงทุน ซึ่งอาจารย์ดิสสกรย้ำว่า แม้กระทั่งต้นกล้วยในบ้านก็เล่นได้ แต่ตอนนี้ทุกคนกลับคิดว่าธรรมชาติเป็นศัตรู ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้ว เด็กต้องการธรรมชาติ และของเล่นที่สำคัญที่สุดคือ พ่อแม่ ที่จะอยู่จะเล่นกับเขาให้เขาได้รับความอบอุ่นและมีความสุข”

อ.ดิสสกร
อ.ดิสสกร

อาจารย์ ย้ำว่า เดี๋ยวนี้เรากลับเห็นการทิ้งลูกไปทำงานหาเงินเพื่อส่งลูกเรียนสูงๆ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ไม่ได้เล่นอย่างมีความสุข อยู่กับเทคโนโลยี ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับสังคม โตมาก็จะเป็นเหมือนหุ่นยนต์ เหมือนวัตถุที่ไม่มีหัวใจ เต็มไปด้วยความเครียด ป่วยเป็นโรคต่างๆ อาจมีแนวคิดอยากทำร้ายหรือทำลายสิ่งของต่างๆ และอาจจะหนักถึงขั้นทำลายสังคมได้

ดังนั้น...จึงต้องตั้งคำถามต่อไปว่า ทำอย่างไรที่เด็กไทยเก่งเหมือนรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นคำถามที่ว่าสมเด็จย่าเลี้ยงพระโอรสและพระธิดาด้วยวิธีไหนและอย่างไร ถึงฉลาดรอบรู้ ทรงมีพระปรีชาสามารถ ทำงานเพื่อแผ่นดิน และทรงเสียสละได้ คำตอบคือ การเล่นด้วยปัญญาในวัยเยาว์

แนวคิดของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาจึงเต็มไปด้วยของเล่นทางวิทยาศาสตร์ในธรรมชาติ การทำประปาภูเขา เล่นน้ำแล้ง น้ำท่วม การดัดแปลงธรรมชาติ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเล่นลักษณะนี้มาก่อน ฉะนั้นในรัชสมัยของพระองค์ท่านจึงสร้างเขื่อน สร้างฝาย เรียนรู้ตั้งแต่ต้นทางและปลายทาง ตลอดจนเกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายที่สร้างประโยชน์สุขแก่ราษฎร

“เด็กไทยทุกคนจึงต้องเล่นและเรียนรู้กับธรรมชาติ ได้ออกแบบได้คิดการเล่นด้วยตนเอง ให้เขาเล่นเนินดิน เนินทราย น้ำ ปีนต้นไม้ เจ็บนิดหน่อยบ้างไม่เป็นไร เขาจะได้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ มีภูมิคุ้มกันในชีวิต”

นับเป็นระยะเวลากว่า 12 ปี ที่มูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาได้ส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายและภาคีนำเอาแนวคิดการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาให้แพร่หลาย และได้จับมือกับกรมส่งเสริมการปกครอง
ส่วนท้องถิ่น (สถ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา

ธวัชชัย
ธวัชชัย

...

ที่...เทศบาลตำบลบ้านดอน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เป็น 1 ใน 12 พื้นที่ต้นแบบของโครงการ ที่พร้อมจะเป็นแม่ข่ายขยายผลไปยัง อปท.ให้ได้อีก 500 แห่งภายในปี 2562 ธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุน

การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า โครงการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ด้วยสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาโดยชุมชนท้องถิ่น เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) และมูลนิธิฯ

“สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมเด็กปฐมวัยให้มีความรู้ทางกาย ทางใจ เกิดสติปัญญาสามารถเรียนรู้ต่อยอด สามารถใช้ชีวิตอย่างเข้มแข็ง ถือเป็นการเตรียมบุคลากรที่สำคัญของชาติ ให้สมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา เพราะในสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาจะฟูมฟักความคิด...หล่อหลอมความเป็นมนุษย์ให้เด็กๆได้เรียนรู้สิ่งต่างๆเหล่านี้ และที่สำคัญ เด็กได้มีความสุขในการมาเล่นมาเรียน”

โครงการนี้จะเป็นการสร้างต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ซึ่งการดำเนินงานเป็นการรวมพลังจากทุกภาคส่วนที่มาช่วยกันดูแลเด็ก ดังนั้นนี่จึงเป็นแนวทางในการตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องบุคลากรได้อย่างยั่งยืน

หัวใจสำคัญของ “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” คือใช้อุปกรณ์ ทรัพยากรในท้องถิ่น ตลอดจนใช้คนในท้องถิ่นมาช่วยกันทำ เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้ตระหนักว่าสามารถดูแลสิ่งต่างๆ อย่างเช่นคุณภาพชีวิต

ของประชาชนได้ด้วยท้องถิ่นเองมากกว่าพึ่งพาราชการ ดังนั้นหากมีชุมชนลักษณะนี้หลายๆแห่ง ท้องถิ่นก็จะมีความเข้มแข็ง จนนำไปสู่ความเข้มแข็งของประเทศชาติ

ทรงบท
ทรงบท

...

ทรงบท คุ้มฉายา นายกเทศมนตรีตำบลบ้านดอน เสริมว่า การสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในพื้นที่เทศบาลมีนโยบายส่งเสริมเรื่องการดูแลเด็กและผู้สูงอายุเป็นหลัก ตลอดจนได้มีโอกาสร่วมทำงานกับ สสส.มานานกว่า 6 ปี จึงได้รับสิ่งดีๆ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

พอมีโครงการนี้จึงตอบรับเข้าร่วมและพร้อมจะเป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับเครือข่าย เพราะเรามีคนที่พร้อม...สถานที่ก็พร้อมเช่นกัน โดยได้ใช้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นพื้นที่สร้าง

แนวคิดของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาสอดคล้องกับนโยบายของเรา ที่ต้องการให้เด็กได้เรียนรู้มากกว่าที่จะอยู่ในห้องเรียน ซึ่งเด็กๆจะเกิดการสร้างปัญญา รู้จักคิด รู้จักทำด้วยตัวเอง มากกว่าให้ผู้ใหญ่นำ...สอนให้เด็กคิดเป็น ทำเป็นอยากให้เด็กบ้านดอนพัฒนาศักยภาพให้ทัดเทียมกับเด็กในเมืองได้

นายกเทศมนตรีตำบลบ้านดอน ชี้ถึงปัจจัยในการกำหนดนโยบายของแต่ละท้องถิ่นว่า ในฐานะผู้บริหารท้องถิ่น อยากให้ อปท.ทุกแห่งเห็นความสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ไม่ใช่มุ่งแต่พัฒนาระบบสาธารณูปโภค สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ได้ จึงขึ้นอยู่กับผู้บริหารท้องถิ่น ว่าจะจริงจังแค่ไหน

“สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือ ร่วมใจของคนในชุมชน เพื่อให้ลูกหลานได้มีเครื่องเล่นอุดมด้วยปัญญา

จิรนันท์
จิรนันท์

...

จิรนันท์ รัตนปัญญา ชาวบ้านตำบลบ้านดอน บอกว่า ดีใจที่เด็กได้มีสนามเด็กเล่นเพิ่มขึ้น เพราะของเดิมมีไม่เพียงพอกับจำนวนเด็กที่มีเกือบ 90 คน เครื่องเล่นแบบเดิมเป็นเครื่องเล่นแบบตายตัวเล่นได้

ครั้งละไม่กี่คน แต่สนามเด็กเล่นสร้างปัญญานี้สามารถให้เด็กหลายๆคน

เล่นพร้อมกันได้อย่างอิสระเพราะไม่มีเครื่องเล่นตายตัว

“เช่นเดียวกับการเลี้ยงลูก เราปล่อยให้เล่นดิน ทราย แต่จะระวังน้ำเป็นพิเศษเพราะลูกยังเล็กอยู่ เราเลี้ยงลูกวิถีแบบชาวบ้านๆ ปล่อยให้เขาเล่น เรียนรู้ ช่วยเหลือตัวเองได้ ถ้าไปหวงไปห่วงมากก็จะทำอะไรไม่เป็น กลายเป็นเด็กอ่อนแอ” จิรนันท์ว่าอย่างนั้น

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระปรีชาสามารถที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ซึ่งความเป็นนักคิด นักพัฒนาของพระองค์ล้วนมาจากการเล่นด้วยฉันทะในวัยเยาว์ คือเรียนรู้และพึ่งพาตนเอง

“สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” จึงเป็นการ “เล่นตามพ่อ” ที่จะสร้างเยาวชนของชาติให้เป็นคนดีของสังคมต่อไป.