ภาคประชาชนผิดหวัง ขู่ “ไม่โหวต” ให้รัฐบาล
ปัญหาสิทธิบัตรกัญชาจบไม่ลง กรมทรัพย์สินทางปัญญายันหาวิธีที่เหมาะสมเคลียร์ 7 คำขอจดสิทธิบัตรกัญชาเจ้าปัญหา จากทั้งหมด 13 คำขอ โดยไม่กระทบคำขออื่น ขณะที่ภาคประชาสังคม เผยผิดหวังการทำงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยัน 7 คำขอเป็นของบริษัทเดียวทั้งหมด “สมคิด-สุวิทย์” เคยไปเยือนมาแล้ว ตั้งข้อสังเกตเอื้อประโยชน์ต่างชาติหรือไม่ เดินหน้า 3 มาตรการ ทั้งฟ้องศาล กดดันทางสังคม และไม่เลือกรัฐบาลนี้
เรื่องสิทธิบัตรกัญชายังไม่จบง่ายๆ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ม.ค. น.ส.จิตติมา ศรีถาพร ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงผลการประชุมร่วมกับภาคประชาสังคมในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจดสิทธิบัตรกัญชาว่า กรม ได้ยืนยันว่ากำลังหาวิธีการที่เหมาะสม ในการดำเนินการกับคำขอจดสิทธิบัตร ที่มีสารสกัดจากกัญชาและองค์ประกอบที่มีสารสกัดกัญชาเป็นส่วนผสม ที่เหลืออยู่อีก 7 คำขอ จากทั้งหมด 13 คำขอ โดยจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของภาคประชาสังคมมาประกอบการพิจารณาด้วย แต่การดำเนินการจะต้องหารือกับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ก่อน และการดำเนินการจะต้องไม่กระทบกับคำขอจดสิทธิบัตรอื่นๆด้วย
น.ส.จิตติมากล่าวด้วยว่า ในการหารือครั้งนี้ มีความเข้าใจตรงกันมากขึ้น และข้อเสนอจากภาคประชาสังคมที่ให้ความเห็นในด้านกฎหมายหลายๆ เรื่อง กรมจะนำไปใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายไม่ให้มีการตีความอีกในอนาคต แต่ในการหารือ กรมได้ยืนยันว่าการพิจารณาในเรื่องนี้ ได้ยึดหลักของกฎหมายและยึดหลักสากล
ผอ.สำนักกฎหมายฯกล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่ภาคประชาสังคมมีข้อสงสัยในเรื่องการตีความมาตรา 9 (5) พ.ร.บ.สิทธิบัตร ที่ไม่ให้รับจดสิทธิบัตร หากเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี อนามัย สวัสดิภาพของประชาชน เหตุใดกรมถึงไม่ปฏิเสธคำขอจด ได้ชี้แจงว่า ประเด็นนี้มีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาให้นำความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีอยู่มาใช้ ประกอบด้วย คือ ความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPs) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) โดยมาตรา 27.2 ใน TRIPs ระบุว่า การพิจารณาจะต้องมองถึงวัตถุประสงค์ของสิ่งประดิษฐ์และประโยชน์เชิงพาณิชย์ ที่ไม่ขัดกับความสงบอันดีด้วย ไม่ใช่มองแค่ว่าจะขัดกับมาตรา 9 (5) เพียงอย่างเดียว
...
“เพราะสิ่งประดิษฐ์ที่นำมาจดสิทธิบัตรอย่างสารเคมีบางอย่างนำมาทำระเบิดได้ แต่มาทำปุ๋ยไม่ได้ ตรงนี้ขอรับการคุ้มครองได้ สารสกัดจากกัญชาก็เช่นเดียวกัน หากนำมาทำเป็นยา ก็ขอรับการคุ้มครองได้ แต่ผู้ยื่นจดจะยังผลิตและขายในไทยไม่ได้ เพราะจนถึงขณะนี้ยังเป็นสารเสพติดอยู่ จะปฏิเสธคำขอแบบนี้ไม่ได้ หลายๆประเทศ เช่น อินเดีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ยึดหลักเดียวกันนี้ ส่วนบราซิลที่ภาคประชาสังคมบอกว่าไม่รับจดกัญชา เพราะเป็นยาเสพติดนั้น กรมไม่มีฐานข้อมูลในเรื่องนี้ แต่ก็รับที่จะนำไปใช้ประกอบการพิจารณา” น.ส.จิตติมากล่าว
สำหรับสถานะล่าสุดของคำขอจดสิทธิบัตรกัญชา 13 คำขอที่เป็นปัญหา กรมได้ละทิ้งไปแล้ว 3 คำขอ อีก 4 คำขอ ผู้ยื่นคำขอได้ยื่นให้ตรวจสอบสิ่งประดิษฐ์ แต่ปฏิเสธไปแล้ว 3 คำขอ เพราะไม่ใช่เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ส่วนอีก 1 คำขออยู่ระหว่างการพิจารณาปฏิเสธ ที่เหลืออีก 6 คำขอประกาศโฆษณาแล้ว แต่ผู้ยื่นยังไม่มายื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ หากยื่นมาแล้ว กรมจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป รวมเป็นที่ยังไม่ได้ปฏิเสธทั้งสิ้น 7 คำขอ ทั้ง 7 คำขอนี้ที่ภาคประชาสังคมอ้างว่าผู้ยื่นจดเป็นบริษัทเดียวกัน เป็นสัญชาติญี่ปุ่น ในการตรวจสอบ กรมไม่ได้พิจารณาถึงชื่อบริษัท หรือชื่อผู้ยื่นจด แต่จะพิจารณาถึงการประดิษฐ์เท่านั้น
ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดี สถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ผิดหวังกับการทำงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญา และยังยืนยันที่จะให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยกเลิกคำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาและองค์ประกอบที่มีสารสกัดกัญชาเป็นส่วนผสม หลายประเทศที่กำหนดให้กัญชาเป็นสารเสพติดให้โทษยังปฏิเสธคำขอจด เช่น บราซิล ขณะที่กรมยังไม่ปฏิเสธ แต่กลับไปพิจารณา TRIPs ที่จะต้องพิจารณาไปถึงวัตถุประสงค์ของสิ่งประดิษฐ์ และประโยชน์เชิงพาณิชย์ด้วย
กรมยกเลิกคำขอได้ทันที แต่ไม่ทำตามกฎหมายไทยกลับไปอ้าง TRIPs ซึ่งไม่มีอำนาจเหนือกฎหมายไทย ทั้ง 7 คำขอที่เหลือมาจากบริษัทเดียวกันหมด เมื่อครั้งเยือนญี่ปุ่น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ก็ไปเยือนบริษัทนี้ การไม่ยกเลิกคำขอที่เหลือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ต่างชาติหรือไม่ หลังจากนี้จะมีมาตรการกดดันรัฐบาล กดดันสังคมและไม่เลือกรัฐบาลนี้พร้อมจะฟ้องร้องในทุกศาลที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ รมว.พาณิชย์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หลังจากเคยร้องต่อ ป.ป.ช.มาแล้ว