“การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม สร้างความเสียหายต่อมวลปลาทั่วโลกและผู้ประกอบอาชีพประมง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเปราะบางต่อความยากจน ดังนั้น สหภาพยุโรปจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่วันนี้พวกเรามีหุ้นส่วนใหม่ที่มุ่งมั่นในการร่วมต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย”

นายเคอเมนู เวลลา กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเลและการประมง กล่าวแสดงความยินดีที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการจัดการกับข้อบกพร่องในระบบกฎหมายและระบบการบริหารด้านการประมง

จนสหภาพยุโรปได้ปลดใบเหลืองให้แก่ไทย หลังได้ให้ใบเหลืองมาตั้งแต่ เม.ย.2558

ทำให้วันนี้กระบวนการที่อาจนำไปสู่การห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ประมงจากไทยไปอียู ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ประมงรายใหญ่ที่สุดในโลก ได้กลับทิศทางไปอย่างสิ้นเชิง

เนื่องจากเราได้แก้ไขกรอบกฎหมายด้านการประมงให้สอดคล้องกับตราสารกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ และได้สนับสนุนการปฏิบัติตามพันธกรณีของรัฐเจ้าของธง รัฐเจ้าของท่าเรือรัฐชายฝั่ง และรัฐเจ้าของตลาด รวมไปถึงการให้คำนิยามที่ชัดเจนในกฎหมายประมงไทย มีการกำหนดบทลงโทษที่สามารถยับยั้งการกระทำผิดได้

นอกจากนี้ ไทยยังได้เสริมกลไกการควบคุมเรือประมงในประเทศ ยกระดับการติดตาม ควบคุมเฝ้าระวัง รวมไปถึงติดตามกิจกรรมการทำประมงจากระยะไกล และมีระบบการตรวจสอบที่ท่าเรืออย่างเข้มงวด

เห็นได้จากอุตสาหกรรมประมงแปรรูปของไทยพึ่งพาวัตถุดิบจากมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ในฐานที่ไทยเป็นภาคีต่อความตกลงองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยมาตรการของรัฐเจ้าของเรือ ไทยได้เสริมสร้างการควบคุมการเทียบท่าของเรือประมงต่างชาติในบริเวณท่าเรือไทย และเสริมความร่วมมือกับรัฐเจ้าของธงในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก

...

ดังนั้น การเสริมสร้างระบบกฎหมายและระบบการบริหารด้านการประมงไทยจึงสร้างผลทวีคูณให้เกิดความยั่งยืนสากลด้านทรัพยากรประมง คณะกรรมาธิการยุโรปขอแสดงความยินดีกับรัฐบาลไทยสำหรับความมุ่งมั่น และพร้อมให้การสนับสนุนไทยในการมุ่งสู่การเป็นแบบอย่างให้กับภูมิภาคนี้.

สะ–เล–เต