ถึงตอนนี้คงพอรู้บ้างแล้ว ระหว่าง “เกย์” กับ “ปาบึก” พายุลูกไหนมีพิษสงร้ายกว่ากัน
ก่อนหน้านี้ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ หนึ่งในผู้รู้ทางด้านอุตุนิยมวิทยา ได้ออกมาเตือนว่า กรณีพายุปาบึกจะทำให้หลายจังหวัดทางตอนใต้ของไทยได้รับผลกระทบรุนแรง โดยอาจทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่แถว จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี และสงขลา
“พายุลูกนี้ใหญ่มาก ถ้ามันเข้าฝั่งจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เหมือนกับพายุเกย์ หรืออาจจะรุนแรงกว่านั้น ถ้ามันลัดเลาะไปเรื่อยๆตามชายฝั่งมา ทั้ง 16 จังหวัดภาคใต้ของไทย จนถึงมาเลเซีย และสิงคโปร์ ต้องระวังให้ดี ส่วนบ้านเรา ถ้าพายุลูกนี้ข้ามฝั่งไปทางตะวันตกด้านทะเลอันดามัน จะสร้างความเสียหายรุนแรงมาก แบบเดียวกับที่พายุเกย์เคยขึ้นและข้ามฝั่งไปถึงจังหวัดชุมพรเมื่อหลายปีที่แล้ว”
ขณะที่ ภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เผยแพร่ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยากรณีพายุ “ปาบึก” (PABUK) ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 3 มกราคม 2562 ว่า
เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันที่ 3 ม.ค.2562 พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 6.2 องศาเหนือ ลองจิจูด 105.5 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
...
กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวน และเคลื่อนลงทะเลอ่าวไทยในวันที่ 3 มกราคม 2562
จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดชุมพรกับสุราษฎร์ธานี ในช่วงค่ำของวันที่ 4 มกราคม 2562 โดยจะมีผลกระทบต่อภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 3-5 มกราคม 2562 ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้
โดยในช่วงวันที่ 3-4 มกราคม 2562 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมแรง บริเวณ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และ สตูล
ช่วงวันที่ 4-5 มกราคม 2562 บริเวณภาคใต้จะมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมแรงบริเวณ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และ สตูล
ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 3-5 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากลมแรงและคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งตั้งแต่วันที่ 3-5 มกราคม 2562
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ ดร.ชวลิต จันทรรัตน์ วิศวกรแหล่งน้ำ ผู้ชำนาญด้านบริหารจัดการมวลน้ำมานานกว่า 30 ปี 1 ในกูรูผู้รอบรู้เรื่องน้ำและพายุดีที่สุดอีกคนหนึ่งของเมืองไทย ได้ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจ ในหน้าเฟซบุ๊ก Chawalit Chantararat ว่า
อย่าเพิ่งตกใจ...กรณีที่มีบางคนบอกว่า พายุโซนร้อนปาบึก ซึ่งจะเคลื่อนที่เข้าสู่ภาคใต้ เป็นพายุที่มีความรุนแรงมากสุด นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นปีที่มีพายุไต้ฝุ่นแฮเรียต (เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2505) ทำให้มีคนตายไปถึง 935 คน หรือกรณีของพายุไต้ฝุ่นเกย์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2532 ทำให้คนมีตายไป 602 คนนั้น
ดร.ชวลิต บอกว่า พายุโซนร้อนปลาบึก เป็นพายุลูกที่ 1 ของปี 2562 (เดิม#36 Tropical Storm=Pabuk) ความจริงแล้ว พายุปาบึก (เป็นภาษาลาว ภาษาไทย คือปลาบึก) เป็น พายุโซนร้อนที่มีความเร็วลมไม่เกิน 118 กม./ชม. ต้องไม่เอาไปเทียบกับ พายุไต้ฝุ่น ซึ่งมีความเร็วลมระหว่าง 150 ถึง 200 กม./ชม.
ซึ่งมันคนละรุ่นกันเลย!!!
ดร.ชวลิต บอกว่า พายุลูกนี้เป็นพายุดีเปรสชัน สลับกับพายุโซนร้อนมาโดยตลอด เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2561 ยังเป็นพายุชื่อหมายเลข #35 ที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วเปลี่ยนมาเป็นพายุโซนร้อน หลังจากเคลื่อนที่ผ่านฟิลิปปินส์แล้ว ได้ลดความแรงลงเป็นพายุดีเปรสชัน แล้วมาก่อตัวใหม่ในทะเลจีนใต้ เป็นพายุดีเปรสชันลูกที่ #36
“กว่าญี่ปุ่นจะกำหนดชื่อพายุลูกนี้ได้ มีการรั้งรออยู่นาน เพราะคิดว่า คงจะเป็นเพียงพายุดีเปรสชันที่มีความเร็วลมไม่เกิน 63 กม./ชม.เท่านั้น แต่พอมีแนวโน้มจะกลายเป็นพายุโซนร้อน ซึ่งมีความเร็วลมไม่เกิน 118 กม./ชม. ญี่ปุ่นจึงตั้งชื่อให้ว่า พายุหมายเลข 1 ของปี 2019 (ชื่อ 1901) หรือปาบึก”
“สิ่งที่อยากเตือนชาวบ้านก็คือ ให้ระวังดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม...ที่น่าเป็นห่วงจริงๆคือ พื้นที่ที่จะมีฝกตกแช่อยู่นานเกิน 24 ชั่วโมง ทำให้มีปริมาณน้ำฝนเกิน 200 มม. อาจทำให้เกิดดินถล่มลงมา เช่น พื้นที่เชิงเขาแถบจังหวัดนครศรีธรรมราช น่าเป็นห่วงการระบายน้ำในเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งอาจจะยังระบายน้ำไม่ทัน และพื้นที่อื่นๆที่ระบายน้ำได้ช้า จะเกิดน้ำท่วมได้”
...
ขณะที่ ชูชีพ วงศ์สุภาพ นักวิชาการของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ได้โพสต์ไว้ในหน้าเฟซบุ๊ก Chucheep Wongsupap โดยตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจเอาไว้เช่นกันว่า
มีมิตรสหายท่านหนึ่งได้โทร.มาถามเขาเรื่องพายุปาบึกว่า จะมีผลกระทบอะไรมากมั้ย และควรที่จะเดินทางกลับจังหวัดภูเก็ตในช่วงนี้หรือไม่ และอีกท่านได้แชร์ข่าวเรื่องเตือนภัยผลกระทบจากพายุลูกนี้อาจจะหนักกว่ากรณีพายุเกย์ เมื่อปี 2532
อาจารย์ชูชีพบอกว่า เมื่อ 10 กว่าปีก่อน สมัยที่เขายังศึกษาอยู่ที่สถาบัน AIT เคยมีการทดลองคำนวณความสูงของระดับน้ำทะเลเมื่อยกตัวสูงขึ้นผิดปกติ เนื่องจากมีลมพายุ (Storm Surge) โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ พร้อมกับข้อมูลพายุในอดีตจาก Digital Typhoon
ผลการทดลองพบว่า การสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลเนื่องจากพายุเกย์ เมื่อปี 2532 ทำให้น้ำทะเลสูงถึง 3 เมตรโดยประมาณ ส่งผลให้พื้นที่บริเวณอ่าวไทยได้รับผลกระทบโดยรอบ มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป
เขาบอกว่า แม้จะเป็นเพียงการทดลองคำนวณ โดยใช้ข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น แต่ผลการศึกษาดังกล่าวทำให้รู้ว่า ลักษณะ Storm Surge เป็นอย่างไร พื้นที่ใดบ้างจะได้รับผลกระทบมากน้อย ซึ่งสามารถนำไปใช้วางแผนรับมือภัยพิบัติได้
“ปัจจุบันเทคโนโลยีการติดตามสภาพอากาศ โดยเฉพาะพายุ ประกอบกับข้อมูลอื่นๆ สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นมาก ความละเอียดถูกต้อง พร้อมกับความถี่ในการอัปเดตข้อมูลก็ดีขึ้น อีกทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการคำนวณทั้งหลายก็ได้ถูกปรับปรุงไปมากแล้ว ทำให้มั่นใจได้ว่า หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องภัยพิบัติสามารถคาดการณ์ผลกระทบจาก Storm Surge ได้แม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น”
...
รวมความแล้ว ผู้รู้ทั้ง 2 ท่านหลัง ตั้งข้อสังเกตถึงฤทธิ์เดชของพายุ “ปาบึก” ออกไปทางนัยว่า ไม่อยากให้เกิดความตื่นตระหนกจากการมาเยือนของพายุลูกนี้กันเกินกว่าเหตุ
แต่เพื่อความไม่ประมาท ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย เฝ้าติดตามข้อมูลข่าวพยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยจากเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 (24 ชั่วโมง) อย่างใกล้ชิด.