รังสรรค์ประติมากรรมอนุสรณ์แห่งความดีอยู่คู่ ไทยรัฐวิทยา
นับเป็นเกียรติประวัติของไทยที่มีคนไทยคนหนึ่งได้ต่อสู้ชีวิต สร้างตัวจนเป็นปึกแผ่น พร้อมกับสร้างคนด้วยการมอบโอกาสทางการศึกษา ก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่สังคม และประเทศชาติ คุณความดีนี้เป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก ในการประชุมสมัชชาใหญ่ สมัยที่ 39 ของ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ระหว่างวันที่ 30 ต.ค.-14 พ.ย. 2560 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ประกาศยกย่องและจารึกให้ “นายกำพล วัชรพล” อดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผู้ก่อตั้งโครงการโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเพื่อชุมชนในชนบท และมูลนิธิไทยรัฐ เป็น “บุคคลสำคัญของโลก ด้านสื่อสารมวลชนและการศึกษา” ซึ่งเป็นสามัญชนคนหนังสือพิมพ์ และเป็นชาวเอเชียเพียงคนเดียวที่ UNESCO ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา ซึ่งจะร่วมฉลองในโอกาส 100 ปีชาตกาลในปี พ.ศ.2561-2562
นายกำพล วัชรพล นับเป็นนักการศึกษาแห่งมวลชนอย่างแท้จริง จากที่ท่านขาดโอกาสทางการศึกษา จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา ซึ่งเปรียบเสมือนอาวุธทางปัญญาที่จะสร้างโอกาสในชีวิตให้แก่ทุกคนในสังคม จากวิสัยทัศน์นี้นำไปสู่การส่งเสริมการศึกษาอย่างจริงจัง ด้วยการสร้างโรงเรียนให้แก่เยาวชนที่อยู่ตามชนบทห่างไกลความเจริญ และสุดท้ายได้ก่อตั้งเป็นเครือข่ายโรงเรียน ในชื่อ “โรงเรียนไทยรัฐวิทยาเพื่อชุมชนในชนบท” โดยโรงเรียนไทยรัฐวิทยาแห่งแรกเริ่มต้นที่ จ.ลพบุรี เมื่อปี พ.ศ.2512 จวบจนปัจจุบันเครือข่ายโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ซึ่งทายาทได้สืบทอดเจตนารมณ์อันแรงกล้านี้ จึงได้มีการขยายและพัฒนาโรงเรียนไทยรัฐวิทยาไปทั่วประเทศ จำนวนถึง 111 โรง
เพื่อเป็นการจารึกและสร้างแรงบันดาลใจแก่ยุวชนคนรุ่นหลังในการทำความดี มูลนิธิไทยรัฐ และ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จึงได้มีรังสรรค์รูปปั้นหล่อสำริด “นายกำพล วัชรพล” ผลงานของ “อาจารย์วัชระ ประยูรคำ” ประติมากรชื่อดัง เจ้าของประติมากรรมรูปเหมือนอันทรงคุณค่า มอบให้เป็นอนุสรณ์แก่โรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศทั้ง 111 โรง และโอกาสนี้ อ.วัชระ ประยูรคำ ได้เปิดใจถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานอันทรงคุณค่านี้
“ผมเคยทำรูปปั้น คุณกำพล วัชรพล ขนาดประมาณ 1 ฟุตมอบให้คุณยิ่งลักษณ์ วัชรพล ลูกสาวท่านเมื่อ 19 ปีที่แล้ว แล้วคุณยุ้ย-ยิ่งลักษณ์ เขาชอบงานชิ้นนั้น พอมีโครงการปั้นรูปคุณกำพลอีกครั้ง คุณยุ้ยเลยติดต่อว่า พอจะทำได้ไหม พร้อมนำข้อมูลทั้งรูปภาพรอบด้าน และประวัติมาให้อย่างครบถ้วน ก่อนทำงานผมได้ค้นคว้าประวัติของคุณกำพล ได้รู้ถึงการต่อสู้ในการทำงาน กว่าจะมาเป็นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เห็นวิธีคิดที่ท่านได้ตั้งไทยรัฐด้วยว่า เราไม่จำเป็นต้องเป็นนักเขียน ถึงจะเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ได้ แต่เป็นคนสามารถที่จัดการบริหาร อยู่ในจุดที่เอาคนเก่งๆมารวมกันได้ เราอ่านมาตรงนี้ รู้สึกว่า ท่านเรียนมาไม่สูง แต่มีความเด็ดขาด มีความเป็นกลาง ทำให้ผมเห็นความเป็นผู้นำในตัวท่าน เราเลยถอดหลักคิด วิธีคิด ออกมาทำงานปั้น ผมก็ทำอนุสาวรีย์ เคยรับราชการอยู่กรมศิลปากรมาก่อน แล้วก็ออกมาทำงานปั้นอนุสาวรีย์ ทำงานอิสระส่วนตัว เราเป็น fine art เราก็จะรู้ว่า การทำงานไม่ใช่แค่ปั้นอย่างเดียว อย่างผมปั้น “ในหลวง รัชกาลที่ 9” มา 15 ปี แสดงงานมาตลอด เราจะรู้ว่าการปั้นบุคคลแต่ละคน เราจะต้องเอาใจใส่เนื้อหา เอาเนื้อหาทั้งหมดมารวบรวม จนเรารู้จักถึงตัวเขา แล้วค่อยปั้นถอดวิญญาณตรงนั้นออกมาให้ได้ เพื่อคนที่ดูเกิดแรงบันดาลใจ ซึ่งรูปปั้นนี้น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ให้คนเห็นว่า เป็นการให้เกียรติ ยกย่องคนที่ทำความดี หรือสร้างสรรค์อะไรให้แก่สังคม เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่คนรุ่นหลัง”
เคยรู้จักคุณกำพล วัชรพล มาก่อนไหม
“ผมไม่เคยเห็นตัวจริงของคุณกำพล แต่อายุ ผมเกิดทันในยุคท่านแน่ เคยเห็นท่านตามหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ ท่านก็ดูเท่ๆ ดูดี เราก็ไม่คิดไม่ฝันว่าวันหนึ่งเราโตมา จะได้มาปั้นบุคคลสำคัญ บุคคลที่เราเห็นคุ้นตา พอคุ้นตาเราก็เหมือนคนใกล้ชิด พอทำงาน จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย ที่ง่ายเพราะได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน มีรูปถ่ายที่ดูหน้าได้ 360 องศา นอกเหนือจากด้านหน้า ด้านข้าง ซึ่งเป็นหลักสำคัญแล้ว แต่ที่ยากคือ ท่าของคุณกำพล ที่ปั้นในครั้งนี้มีคาแรกเตอร์เป็นเอกลักษณ์บุคคลมาก ส่วนมากรูปอนุสาวรีย์มักจะยืนตรง จะเป็นท่าทั่วไป แต่ท่าของคุณกำพล ที่ท่านโน้มตัวลงไป แล้วเอาศอกไปเท้าที่ขา ใส่สูท แล้วเอียงตัว เป็นท่าที่มีคาแรกเตอร์มาก
คือ คนส่วนใหญ่ที่สนิท หรือรู้จักคุณกำพล จะรู้สึกว่าท่านี้เป็นคุณกำพลมากที่สุด อาจจะมีความสำอาง มีความเรียบร้อย มีความแข็งแรง มีพลังบางอย่างในตัว มีความเป็นผู้นำมีศักยภาพอะไรบางอย่าง ที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นคาแรกเตอร์ ของผู้นำ ซึ่งความจริงท่านี้ เป็นท่าที่คนไทยไม่ค่อยคุ้น เพราะ เป็นท่าแบบฝรั่ง จะมีมูฟเมนต์นิดหน่อย มีความเป็นผู้นำและแอ็กทีฟ ซึ่งเป็นท่าที่ตัดองค์ประกอบยาก ผมก็เลยต้องตัดองค์ประกอบมาประมาณช่วงแขนไม่ให้โผล่ แต่ยกจังหวะให้ดูมีมูฟเมนต์หน่อย แล้วต้องทำอย่างไรให้รู้สึกไม่เอียง ไม่ล้ม ซึ่งท่าแบบมีคาแรกเตอร์มาก รับรองมีคนเดียวในโลก”
งานประติมากรรมนี้จะสะท้อนอะไรบ้าง
“ในการปั้นรูปบุคคลจะต้องเลือกช่วงเวลาที่งดงามที่สุด เวลาที่ผ่องที่สุดในชีวิตเขาจะต้องเป็นช่วงเวลาที่คนเป็นต้นแบบดูอิ่มเอิบ ดูมีพลัง ดูมีความหมายมากที่สุดของมนุษย์ เพราะถ้าเกิดเหี่ยวไป ดูแก่ไป ดูไม่มีกำลังเพราะรูปปั้นพวกนี้จะต้องมีพลัง ส่งพลังให้กับคนดู อย่างรูปปั้นคุณกำพลน่าจะเป็นช่วงอายุ 60 ปีไปแล้ว เพราะช่วงนั้นน่าจะดูมีคาแรกเตอร์ค่อนข้างสมบูรณ์ทุกอย่าง ดูแล้วมีพลัง ซึ่งหน้าท่านหน้าตาท่านคล้ายๆมังกร มีจมูก เหมือนพญามังกร เราก็พยายามถอดพลังอะไรตรงนั้นออกมาให้เห็นว่าต้องเป็นคนหน้าแบบนี้ ถึงจะกล้าคิดกล้าทำ”
ในฐานะที่เป็นผู้สร้างสรรค์ประติมากรรม “คุณกำพล วัชรพล” ที่มอบให้กับโรงเรียนไทยรัฐวิทยา งานชิ้นนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นหลังอย่างไร
“จริงๆโครงการนี้ดีมาก ผมมีอาชีพทำอนุสาวรีย์มานาน เราก็ทำงานอาร์ต ทำงานเรื่องมนุษย์มาโดยตลอด เราก็ได้เห็นการจะจารึกคนขึ้นมามันต้องเกิดจากการทำความดี เกิดจากการยกย่องจากคนส่วนร่วม แล้วคนส่วนรวมในสังคมก็จะให้เกียรติในการจารึกสิ่งนี้ขึ้นมา แล้วงานประติมากรรมนี้ทำเป็นงานบรอนซ์ เป็นสิ่งที่คงทนถาวร เป็นงานที่จะอยู่ชั่วลูกชั่วหลานอยู่ได้เป็นร้อยๆปี ทำให้ความดีที่ท่านได้ทำในหน้าที่ หรือสิ่งที่ท่านได้ทำให้เกิดประโยชน์ ตรงนี้จะเป็นการสร้างจิตสำนึก และกระตุ้นให้คนในสังคม ได้เกิดการเลียนแบบในทางที่ดี สะท้อนให้คนที่ได้เห็นรูปปั้นนั้นได้คิดว่า เราเองน่าจะทำความดี หรือทำอะไรบางอย่าง ไม่ว่ามากหรือน้อยให้แก่สังคม ให้แก่องค์กร หรือให้กับอาชีพของเรา
ซึ่งสังคมไทยน่าจะต้องยกย่องในเรื่องแบบนี้มากขึ้น เพราะคนไทย สังคมไทยมักจะเป็นสังคมที่อิจฉา ตาร้อน ไม่อยากเห็นคนอื่นได้ดีกว่าตน อย่างสุภาษิตที่ว่า “ทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย” ผมรู้สึกว่าเป็นการไม่ยกย่องคนดี ทำให้คนดีไม่กล้า ทำดีต้องแอบๆ อย่างกรณีคุณกำพล แสดงให้เห็นว่า ท่านเป็นคนที่มีความคิดไกล มีวิสัยทัศน์ ให้ความสำคัญทางด้านการศึกษา ซึ่งมีความสำคัญกับเมืองไทยมาก แล้วลูกหลานก็ได้สานงานต่อ เพราะการศึกษาของเมืองไทยยังไม่ได้สร้างมนุษย์ที่แท้จริงในการเป็นอิสระทางความคิด ยังเป็นการศึกษาท่องจำ เป็นการศึกษาที่ยังอยู่ในกรอบ ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดนักคิดในสังคมได้ การที่ภาคเอกชนเข้ามาช่วยอุดหนุนรัฐทางการศึกษา จนได้รับการยกย่องระดับโลกเช่นนี้ เราต้องภูมิใจที่คนไทยได้รับการยกย่องเป็นคนของโลก เราต้องมองว่า คุณกำพลเป็นคนของแผ่นดิน เป็นคนของประเทศไทย ไม่ใช่เป็นคนแค่ของไทยรัฐเท่านั้น และอย่าไปคิดไปแบ่งว่าคุณกำพลเป็นไทยรัฐแล้วเราจะไปเชียร์ ไปพูดไม่ได้ เราต้องสร้างจิตสำนึกให้คนรู้จักความดี แยกแยะดีชั่วให้มากขึ้น”.
ทีมข่าวหน้าสตรี