คนใหญ่คนโตในรัฐบาล คสช.เคยพูดไว้ จะดันราคาปาล์มน้ำมันให้ได้ กก.ละ 5 บาท...แต่ 4 ปีผ่านไปเกษตรกรแทบไม่ได้ราคานี้เลย
จะมีแค่ปี 2559 เท่านั้น “เทวดาเอลนีโญ” เสกภัยแล้งผลผลิตต่ำ ถึงขายได้ราคาเฉลี่ย กก.ละ 5.41 บาท แต่ราคาร่วงมาตลอด ปีที่แล้วทั้งปีเฉลี่ย กก.ละ 3.11 บาท ยิ่งสหรัฐฯ ยุโรป ลดการนำเข้าปาล์มน้ำมัน อินเดียขึ้นภาษีนำเข้าจาก 15% เป็น 40% ราคาเลยร่วงหนักตอนนี้เหลือไม่ถึง 3 บาท
ภาวการณ์เช่นนี้ ปาล์มน้ำมันจะเป็นอย่างไรถึงจะอยู่รอด
“เดิมน้ำมันปาล์มครองตลาดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากน้ำมันถั่วเหลือง แต่หลังจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย มีนโยบายขยายการตลาด เข้าไปตีตลาดสหรัฐฯและยุโรป จนกระทั่งแซงขึ้นมาอันดับ 1 เลยมีการกีดกันทางการค้า สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต จะมีการออกกฎหมายห้ามนำไบโอดีเซลที่ทำจากน้ำมันปาล์มไปใช้ในยุโรป มันจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดสงครามการค้า ระหว่างน้ำมันปาล์มกับน้ำมันถั่วเหลือง”
บุรินทร์ สุขพิศาล ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมโอลีโอเคมีจากพืชน้ำมัน กระทรวงอุตสาหกรรมชี้ว่า ประเทศไทย และเกษตรกรจะต้องเตรียมตัวรับมือ
...
ปัญหาที่สำคัญ อยู่ที่รัฐบาลไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับปัญหาเหล่านี้เอาไว้เลย...แม้การเปิดตลาดไบโอดีเซลจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยได้
แต่อย่าลืมว่า ไบโอดีเซลนั้นไปแย่งส่วนแบ่งน้ำมันปิโตรเลียม ดังนั้นการส่งเสริมใช้ไบโอดีเซลจึงกลายเป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอนและยากจะเป็นจริงได้ เพราะฝั่งปิโตรเลียมสูญเสียรายได้
ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว บ้านเรามีผลผลิต 6 ล้านตัน เพิ่มเป็น 10 ล้านตันเมื่อปี 2559 และวันนี้พุ่งเป็น 15 ล้านตันแล้ว สถานการณ์แบบนี้ไม่ว่ารัฐจะมีนโยบายยังไง เอาไม่อยู่แน่นอน...
“บ้านเราไม่ใช่ประเทศส่งออกหรือนำเข้าน้ำมันปาล์ม มีกฎหมายควบคุม การนำเข้าแต่ละครั้งจะต้องไปขออนุญาต คณะกรรมการปาล์มแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่ระบบเปิดเสรีแบบอินโดนีเซีย และมาเลเซีย”
เกษตรกรบ้านเราผลิตออกมาเยอะ เกิดปัญหาล้นตลาด แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่รู้ ไม่ได้เตรียมการล่วงหน้า และไม่ตรวจสอบอย่างละเอียด
...
ฉะนั้นจะแก้ปัญหาได้ต้องสร้าง demands ขึ้นมาภายในประเทศ ...ต้องนำน้ำมันปาล์มมาต่อยอดแปรรูปเป็นสินค้าอย่างอื่นเพิ่ม
เพราะน้ำมันปาล์มสามารถแปรสภาพเป็นสินค้าได้หลากหลาย...เป็นได้ทั้ง อาหาร พลังงาน และเคมีภัณฑ์ ที่เรียกกันว่าโอลีโอเคมี
ที่สำคัญโอลีโอเคมี นอกจากจะทดแทนเคมีภัณฑ์ปิโตรเลียมได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ดีกว่าเคมีภัณฑ์จากปิโตรเลียม ยังนำไปใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางราคาแพง อาหารเสริมและยา ที่จะช่วยหนุนส่งให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นมากกว่าขายปาล์มน้ำมันทำเป็นน้ำมันเจียวไข่
แต่คณะกรรมการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ยังมองวิธีการแก้ปัญหาแบบพายเรือในอ่าง
“อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน มีมูลค่า 200,000 ล้านบาท เกษตรกรมีส่วนแบ่ง 60,000 ล้านบาท หรือ 30% เท่านั้น รายได้อีก 70% ตกไปอยู่ที่โรงงานสกัด ภาคอุตสาหกรรมเชื้อเพลิง ไบโอดีเซล และพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้เกษตรกรอยู่รอดได้ในวิกฤตินี้ น่าจะใช้แนวทางแก้ปัญหาแบบเดียวกับอ้อยและน้ำตาลมาเป็นต้นแบบ เพราะอ้อยและน้ำตาลมีระบบ Profit Sharing หรือการแบ่งปันผลผลิต โดยแบ่งปันให้กับเกษตรกร 70% โรงงาน 30%”
...
...
นายเชาวลิต ศุภนคร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พีพีพี กรีนคอมเพล็กซ์ จำกัด บอกถึงการนำปาล์มมาผลิตไฟฟ้า...ที่หลายคนคิดว่า ต้นทุนสูงกว่าพลังงานชนิดอื่น
แต่จริงๆแล้ว ค่อนข้างใกล้เคียงกันแถมถูกกว่าการผลิตพลังงานบางชนิดเสียอีก...
พลังน้ำมีต้นทุนหน่วยละ 4.90 บาท พลังงานลม 6.06 บาท พลังงานแสงอาทิตย์ 5.66-6.85 บาท ไฟฟ้าจากพลังงานขยะ 5-6.30 บาท ไฟฟ้าชีวมวล 4.24-5.34 บาท ก๊าซชีวภาพ 3.76 บาท
ส่วนปาล์มน้ำมันมีต้นทุนค่าไฟฟ้าหน่วยละ 5.27 บาท
ปาล์มน้ำมันดิบ 1 กก. สามารถสกัดเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงงานไฟฟ้าได้ 17-18% ที่เหลือกะลาปาล์ม ทะลายปาล์ม ใบปาล์ม ยังสามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงงานไฟฟ้าได้อีก
โรงไฟฟ้าขนาด 45 เมกะวัตต์ จะใช้ปาล์มประมาณ 80,000 ตันต่อปี
นอกจากนั้นยังมีเมล็ดในปาล์มที่สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันเพื่ออุปโภคบริโภค มีเส้นใยผลปาล์มมาแปรรูปฉนวนกันความร้อน ทำเฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ฯลฯ
ผลพลอยได้จากปาล์มมีมากมาย ถ้าเอามาใช้ประโยชน์เต็มที่ เชาวลิตบอกว่า หากนำระบบแบ่งปันแบบเกษตรกร 70% โรงงาน 30% จะช่วยให้ราคาปาล์มที่ไม่ถึง กก.ละ 3 บาท เพิ่มเป็น กก.ละ 4.5 บาทได้.
ทีมข่าวเกษตร