ธุรกิจสิ่งพิมพ์อยู่ในขั้นวิกฤติ องค์กรและสำนักพิมพ์ต่างๆพยายามหาทางออกในรูปแบบต่างๆเพื่อประทังให้อยู่ได้

เพื่อตอบสนองความต้องการเรียนรู้ เติมปัญญาให้กับคนในสังคมต่อไป ล่าสุดรัฐบาลเห็นความสำคัญการอ่าน อนุมัติให้นำใบเสร็จที่ซื้อหนังสือมาลดหย่อนภาษีได้ แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท เรื่องนี้ ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม อธิบายว่า ได้ดำเนินโครงการเรื่องการอ่านมานานแล้ว การซื้อหนังสือแล้วนำมาลดภาษีครั้งนี้ เราทำตามแผนแม่บทเพื่อสร้างสังคมการเรียนรู้ “การที่ไม่ได้เปลี่ยนรัฐมนตรี ทำให้เราดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับการซื้อหนังสือและลดภาษีครั้งนี้ เราเปิดโอกาสให้ 1 เดือนเต็มๆ คือ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2561 ไปจนถึงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2562”

การคาดหวังในการลดหย่อนภาษีให้นักอ่านครั้งนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีบอกว่า แต่ละกลุ่มมีความสนใจในแรงจูงใจครั้งนี้เป็นอย่างมาก เชื่อว่าหนังสือจะมียอดขายเพิ่มขึ้น แถมยังเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ ส่งเสริมผู้ประกอบการ และเรายังได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติพร้อมๆกันไป

ทางด้านหัสกาญจน์ ภิงคารวัฒน์ รองโฆษกกรมสรรพากร อธิบายว่า สรรพากรได้รับนโยบายจากรัฐบาลในเรื่องนี้มาดำเนินการ ก่อนหน้าที่ได้ลดหย่อนภาษีด้านอื่นๆมาก่อนแล้ว ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่เราให้นำใบเสร็จซื้อหนังสือมาลดหย่อนภาษีได้ เพราะปีนี้กระทรวงวัฒนธรรมมีแผนแม่บทเรื่องการอ่าน กระทรวงการคลังก็รับนโยบายเข้ามาดำเนินการเรื่องการอ่าน

...

การให้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี “เป็นมาตรการเพื่อส่งเสริมทุนมนุษย์ โดยกำหนดให้บุคคลธรรมดาสามารถนำในเสร็จที่ซื้อหนังสือไปหักลดหย่อน การคำนวณภาษีเงินรายได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท

ต้นธารของโครงการนี้มาจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย สุชาดา สหัสกุล นายกสมาคม อธิบายความเป็นมาของโครงการ “ช็อปหนังสือช่วยชาติ” ว่า ทางสมาคมได้พยายามดำเนินการในเรื่องนี้มานาน แต่เพิ่งมาได้โอกาสในครั้งนี้ การซื้อหนังสือช่วยชาติได้อย่างไร คำตอบก็คือ เมื่อคนมีความรู้มากขึ้นก็จะมีการพัฒนาตัวเอง เมื่อคนมีคุณภาพก็จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม วงเงินที่ซื้อหนังสือแล้วลดภาษีได้นั้น 15,000 บาท เท่ากับกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนคนทำหนังสือ กระจายปัญญาไปสู่สังคมในวงกว้าง ใครซื้อแล้วอ่านก็ได้ ซื้อแล้วบริจาคให้ชุมชนที่ด้อยโอกาสในการเข้าถึงหนังสือก็ได้

และประการสำคัญ ธุรกิจหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน ผู้พิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย ล้วนแต่เป็นวงจรที่คนไทยทำเอง ไม่เหมือนธุรกิจเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่รายได้ส่วนหนึ่งออกนอกประเทศ แต่ธุรกิจหนังสือ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นของคนไทย “ยุทธศาสตร์ใดๆก็ตามต้องอาศัยคน หากคนไม่มีคุณภาพก็ไม่อาจผลักดันยุทธศาสตร์ให้ก้าวไปสู่จุดหมายได้”

นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯยังบอกอีกว่า โครงการนี้เกิดขึ้นได้ เพราะผู้ใหญ่ในกระทรวงเห็นความสำคัญ ในส่วนของสมาคมนั้นเป็นผู้ทำการบ้าน ทำข้อมูลด้านหนังสือว่าเมื่อรัฐขาดรายได้จากการขายหนังสือไปรัฐจะได้อะไรกลับมา และสิ่งที่ได้กลับมาอย่างแน่นอนก็คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

เมื่อถามถึงธุรกิจหนังสือในปี พ.ศ.2561 นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯบอกว่า ธุรกิจหนังสือยังทรงๆ แต่ที่ไม่เห็นชัดเจนคือยอดขายหนังสือในออนไลน์ว่าเติบโตแค่ไหน อย่างไร ในส่วนของสำนักพิมพ์ที่ปรับตัวไม่ทันก็ต้องหายไป บ้างก็ปรับตัวลดลง เพื่อความอยู่รอด

การตั้งรับสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯพยายามช่วยหาช่องทางขายอื่นๆ เป็นต้นว่าจัดบุ๊กแฟร์ในภาคต่างๆทั้งใต้ที่หาดใหญ่ เหนือที่เชียงใหม่ อีสานที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น ผลตอบรับจากที่ได้จัดมา “เชียงใหม่และหาดใหญ่มีการตอบรับที่ดี แต่ภาคอีสานไม่ค่อยดีนัก อาจจะเป็นเพราะว่าคนมีรายได้น้อย หรือเหตุปัจจัยอื่นๆก็ตาม”

นอกจากบุ๊กแฟร์ “เพื่อช่วยสำนักพิมพ์ เราจัดอบรมให้สำนักพิมพ์ ต่างๆเข้าใจระบบธุรกิจออนไลน์ เพื่อขายหนังสือออนไลน์ซึ่งเป็นช่องทางใหม่และมีผลตอบรับดี และอีกช่องทางหนึ่งก็คือโครงการทำหรีดหนังสือมีสำนักพิมพ์และร้านขายหรีดที่เข้าร่วมประมาณ 15 ร้าน ดูชื่อร้านได้จากเว็บไซต์ของสมาคมผู้จัดพิมพ์”

โครงการช็อปหนังสือช่วยชาติ ในมุมของนักเขียนที่มีผลงานขายไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเล่ม “ตุ๊บปอง” หรือเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป บอกว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณคณะรัฐบาลที่เห็นความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และขอบคุณสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯที่ตั้งเรื่อง การนำหนังสือเข้ามาในโครงการช็อปช่วยชาติ แน่นอนว่าวงการหนังสือจะต้องกระเพื่อมไหว มีคนซื้อหนังสือเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะคนซื้อหนังสือจะทำให้เสียภาษีน้อยลง และเมื่อทำในช่วงข้ามปี เท่ากับเปิดโอกาสให้คนรักหนังสือได้ซื้อหนังสือเป็นของขวัญทางปัญญา ไม่ใช่มาแจก 300 หรือ 500 แต่เป็นการให้ความสุขถาวร และเป็นการให้ปัญญาคนในชาติ

...

เมื่อถามถึงหนังสือเด็กในโลกปัจจุบันควรปรับตัวอย่างไร “ตุ๊บปอง” บอกว่า หนังสือดีกับหนังสือที่เด็กชอบต่างกัน ผู้ใหญ่ต้องการซื้อหนังสือดีให้เด็ก อย่างหนังสือที่องค์การเชื่อถือได้แสตมป์ให้ อย่างน้อยก็มีกรรมการคัดสรรมาให้ระดับหนึ่ง แต่หนังสือดีสำหรับเด็ก ขั้นแรกเลยหนังสือนั้นเด็กต้องชอบก่อน

การเลือกหนังสือเป็นเรื่องรสนิยม การเลือกหนังสือต้องระวัง โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าเป็นหนังสือดีของผู้ใหญ่แล้ว ต้องเป็นหนังสือดีของเด็กด้วย ผู้ใหญ่มักจะเอาดีของตนฝ่ายเดียว ทำให้เด็กไม่อ่าน ทำให้เด็กเข้าไม่ถึงสาระดีๆในหนังสือ

สถานการณ์การอ่านของบ้านเรา “การอ่านเป็นเรื่องของยุคสมัย ปัจจุบันเราทราบกันดีว่าเราอ่านหนังสือน้อยลง เพราะเราแบ่งเวลาไปอ่านหน้าจอมากขึ้น แต่เราต้องดูด้วยว่า ถ้าเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ อย่าให้เฝ้าหน้าจอ เราปฏิเสธยุคสมัยไม่ได้ ถ้าให้เด็กเล่นควรกำหนดเวลาว่าแค่ไหน และเมื่อถึงเวลากำหนดแล้วต้องแค่นั้นจริงๆ

แล้วเขียนหนังสืออย่างไรถึงจะแย่งตาเด็กจากหน้าจอมาอ่านหนังสือได้ “ต้องดึงสายตาเด็กมาด้วยภาษา เด็กสนใจภาษาที่เร้าใจ สนุกสนาน ตุ๊บปองเลือกภาษาที่คล้ายเสียงดนตรี ดังนั้น หนังสือของตุ๊บปองไม่มีคำว่า ดีๆ แต่มีดี๊ดี หนังสือของตุ๊บปองไม่มีชอบๆ แต่มีช้อบชอบ หนังสือของตุ๊บปองไม่มีอร่อยๆ แต่มีอร้อยอร่อย”

หนึ่งในสำนักพิมพ์ที่สนับสนุนให้เกิดโครงการคือมติชน กิตติวรรณ เทิงวิเศษ ผู้จัดการสำนักพิมพ์ บอกถึงความคาดหวังในโครงการนี้ว่า ถือว่าเราได้กระตุ้นเรื่องการอ่าน อย่างที่รู้กันอยู่ว่าตลาดหนังสือช่วงนี้ซบเซา เมื่อมีนโยบายจากรัฐออกมาอย่างนี้ เท่ากับสนับสนุนให้หนังสือมาเป็นตัวเลือกหนึ่งในการเลือกของขวัญ

เพื่อรองรับโครงการนี้ “สนพ.มติชนได้จัดชุดหนังสือมาเป็นของขวัญ เรามีชุดให้เลือกหลากหลาย เพื่อสนองความต้องการของนักอ่าน มีทั้งชุดประวัติศาสตร์ ชุดการเมือง ชุดวรรณกรรม และชุดสุขภาพ ทุกชุดเราลดให้สูงสุดถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ละชุดมี 3 เล่มขึ้นไป นอกจากซื้อหน้าร้านแล้ว ยังมีขายทางออนไลน์ พิเศษสุดช่วงนี้ สนพ.ของเราส่งให้ฟรี”

...

ด้านนโยบายของสำนักพิมพ์ “กลุ่มคนอ่านของเราชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแนวประวัติศาสตร์ วรรณกรรมเข้มข้น ตรงนี้เรายืนอยู่จุดเดิม ผลิตอยู่เหมือนเดิม แต่จำนวนอาจจะไม่มากเหมือนก่อน และพยายามหาเนื้อหาใหม่ๆและช่องทางใหม่ๆเข้ามา เช่น เราร่วมมือกับค่ายหนังอย่างเรื่องเลือดข้นคนจาง เราจะนำมาปรับเป็นนิยายเพื่อสนองคนรุ่นใหม่ เป็นต้น”

หันไปทางศูนย์หนังสือจุฬาฯ ได้จัดชุดเพื่อสนองโครงการ “ช็อปหนังสือช่วยชาติ” เช่นกัน โดยจัดชุดของขวัญออกมาให้เลือกซื้อหา อาทิชุดมานานุกรมวรรณคดีไทย ชุดหนังสือภาพสวยงาม ชุดหนังสือสุขภาพน่ารู้ ชุดนิยายดังหนังละคร ชุดหนังสือนิทานเด็ก วรรณกรรมเยาวชน เป็นต้น

ธุรกิจให้ปัญญาอย่าง “หนังสือ” เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง รูปแบบการอ่านและขายก็เปลี่ยนไป อยู่ที่ใครจะตั้งรับและรุกอย่างไร โดยมีความอยู่รอดเป็นเดิมพัน.