Credit : WSU
ปัจจุบันมีขยะนับล้านล้านชิ้นทั้งขนาดใหญ่ เล็ก หรือชิ้นเล็กจิ๋ว กำลังเคลื่อนที่ไปรอบๆ มหาสมุทรโลก และอนุภาคเล็กจิ๋วจากขยะก็กำลังแทรกซึมเข้าไปอยู่ในดินตะกอนและแหล่งน้ำจืด อนุภาคเหล่านี้ก็คือเศษพลาสติกที่มาจากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นเส้นใยเสื้อผ้าสังเคราะห์ เครื่องสำอาง บรรจุภัณฑ์ และกระบวนการอุตสาหกรรม ขยะเหล่านี้เมื่อลงสู่มหาสมุทรก็จะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเลที่มีโอกาสกินอาหารปนเปื้อนมลพิษเข้าไป
เราต่างรู้ว่าการกำจัดขยะพลาสติกเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลายาวนาน ถือเป็นโจทย์สำคัญให้นักวิทยาศาสตร์มากมายพยายามคิดหาวิธีจัดการอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ก่อผลกระทบซ้ำเติมสิ่งแวดล้อม ล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตัน ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า ได้ใช้วิธีทางฟิสิกส์สร้างแบบจำลองไมโครไฟเบอร์ (microfibers) ที่เป็นเส้นใยสังเคราะห์ขนาดเล็กประกอบด้วยโพลีเมอร์ 2 ชนิดคือ โพลีเอสเตอร์ (polyester) และโพลีอามายด์ (polyamide) เพื่อศึกษาว่าเส้นใยไมโครไฟเบอร์ผ่านเข้าไปแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร โดยเฉพาะเส้นใยสังเคราะห์จากเสื้อผ้า เพราะทุกครั้งที่เราเดินหรือเสียดสีเสื้อผ้า นั่นคือเส้นใยไมโครไฟเบอร์ได้หลุดออกมา เมื่อซักเสื้อผ้าเส้นใยเหล่านี้ก็จะไหลไปตามท่อจนถึงโรงบำบัดน้ำเสีย ผ่านระบบกรองน้ำและสารที่ถูกกรองจะถูกทิ้งลงในตะกอนสิ่งปฏิกูล จากนั้นก็จะนำมาใช้กับการเกษตร เช่น ใส่ปุ๋ยหรือทิ้งในหลุมฝังกลบ
นักวิจัยเผยว่า การเคลื่อนไหวของเส้นใยสังเคราะห์ที่มีความหนาแน่นน้อย จะมีความสลับซับซ้อนและเคลื่อนที่เร็วกว่าสารที่ละลายในน้ำจึงต้องปรับแต่งแบบจำลองให้ใช้งานได้กับการสังเกตการณ์การเคลื่อนไหวของเส้นใยไมโคร–พลาสติก (microplastic) โดยเริ่มทดสอบในห้องปฏิบัติการโดยตรงก่อนจะนำไปตรวจวัดในสถานที่บำบัดน้ำเสียจริง ซึ่งเชื่อว่าวิธีการใหม่นี้จะสามารถวัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้แม่นยำยิ่งขึ้นกว่าเดิม.
...