คุณเชียร ธีรศานต์ จัดพระเครื่อง “สกุลลำพูน” พระรอด พระลือ พระบัง พระเปิม พระเลี่ยง พระลบ พระรอดหลวง และพระจามเทวีเรือนแก้ว ที่นักเล่นในพื้นที่รักจะเรียกพระลือโขงมากกว่า รวมเป็นชุด 9 องค์ เรียกชุดนพคุณ

ตามความตั้งใจ คุณเชียรเรียงพระลบ เอาไว้ลำดับที่ 7

ดูจากภาพ พระลบพิมพ์ฐานสามชั้น ในคอลัมน์ เทียบเส้นสายลายพิมพ์กับพระสกุลลำพูนทั้ง 9 องค์ ว่ากันด้วยศิลปะ พระลบอ่อนด้อยกว่าทุกองค์ เป็นรองกระทั่งพระรอดหลวง ซึ่งสร้างหลังพระคง

ครูศิลปะสอนไว้กว้างๆว่า ศิลปะมีสามระดับ เริ่มแต่ฝีมือชาวบ้าน พัฒนาขึ้นไปอีกนิด เป็นศิลปะสุกๆดิบๆ จากนั้นก็ขึ้นสู่ศิลปะขั้นสูง คลาสสิก

ศิลปะระดับพระรอด ครูตรียัมปวาย ท่านยกให้เป็นคลาสสิก เล็กที่สุด สวยที่สุด และเก่าที่สุด ไม่มีพระเครื่องยุคใดเทียบเทียมได้

พระลบนั้น ขนาดองค์เท่าปลายก้อยเด็ก เส้นสายลายพิมพ์บ่งชัด ฝีมือชาวบ้านแบบเต็มๆ ทั้งเนื้อดินก็หยาบ ปนกรวด พระลบแท้ คุณเชียรแนะให้ส่องหากรวดสีทับทิม และอีกหลายๆสี

จุดที่พบพระลบ เรียกหนองสะเหน้า... ไกลจากวัดจามเทวีไปทางทิศเหนือ...ไม่มาก

มีตำนานเล่า พระนางจามเทวี ทำสงคราม กับขุนวิลังคะ เจ้าชาวลัวะ แล้วได้ชัยชนะจึงสร้างพระไว้เป็นอนุสรณ์...ก็คงต้องฟังเอาไว้

ดูจากศิลปะพระลบ...ทั้งพิมพ์ทั้งเนื้อไม่งาม อย่างที่ว่าเป็นฝีมือชาวบ้าน...อายุการสร้างหลังชุดลำพูนมาก จุดที่พบก็อยู่นอกบริเวณเมือง แต่เมื่อเป็นพระศักรพุทธปฏิมาเหมือนกัน คนลำพูนก็ยอมรับไว้ในชุดพระลำพูน

ชื่อพระลบ ใครเจตนาตั้งไม่รู้ แต่ต้องรู้ต่อ ตามชื่อพระสกุลลำพูนทุกองค์ ตั้งแต่รอด ลือ คง บัง เลี่ยง ตั้งไว้จูงใจให้คน “ยึดมั่น”

ไปทางนิรันตราย ปลอดภัย เมื่อมีพระลบแขวนคอ ว่ากันว่าไม่ควรใช้ร่วมกับพระลำพูนองค์อื่น

...

พระลบเป็นพระที่เชื่อว่ามีอานุภาพไปทางลบล้างเวทมนตร์คาถา และพระลบก็น่าจะพลอยล้างพุทธคุณพระเครื่ององค์อื่นด้วย

ความเชื่อนี้ ตอนนี้จืดจางลงไป มีคนแขวนพระลบร่วมกับพระอื่นแล้ว เพราะเชื่อว่าพระก็คือพระ พุทธคุณของพระควรออกมาได้ด้านเป็นคุณเหมือนๆกัน

คุณเชียร ธีรศานต์ อธิบายเรื่องเนื้อพระลบว่า เป็นเนื้อดินผสมกรวด หยาบกว่าพระลำพูนอื่น กรวดที่ผสมเป็นกรวดทับทิมสีแดงเข้มปน แร่สีอื่นก็มี สีอะไรบ้าง หาพระแท้ส่องดูให้คุ้นตา

หลักการดูเนื้อพระลบต้องเลือกเนื้อสีแดง คล้ายเอาพริกแห้งผสมในเนื้อ โอกาสได้พระแท้มากกว่าเนื้อสีพิกุล

คุณเชียรบอกว่า พระลบมีหลายพิมพ์ แต่หาจุดลับแนะนำให้ศึกษาเหมือนพระรอด พระคง...ไม่ได้

พระลบแท้ มักไม่คมชัด เท่าที่เห็นแยกเป็นสองแบบ แบบสามเหลี่ยม ไม่ตัดขอบ และแบบมนคล้ายวัดพลับ ไม่ตัดขอบเช่นเดียวกัน

ในหนังสือพระสกุลลำพูน คุณนิพนธ์ สุขสมมโนกุล เขียนไว้ว่า พระลบเป็นพระดินเผาเนื้อหยาบ ส่วนใหญ่สีดีเข้ม สีพิกุลพบบ้างแต่น้อย พิมพ์พระส่วนใหญ่จะเลือก ไม่ชัดเจน จึงเป็นที่มาของชื่อ “พระลบ”

มีสองพิมพ์ พิมพ์ฐานสูง และพิมพ์ฐานต่ำ และยังแยกได้อีกเป็นหลายพิมพ์ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ฐานชั้นเดียว ฐานสองชั้น ฐานสามชั้น พิมพ์สามง่าม พิมพ์ตัวหนังสือจีน

ของปลอมมีมานาน...เจอสีเหลืองพิกุล เนื้อแน่น ผิวไม่เปื่อยยุ่ย ให้ระวัง!

O พลายชุมพล O