ภาคเหนือ อีสาน นิยมปลูกข้าวเหนียว แต่ข้าวเหนียวพันธุ์ดั้งเดิม ต้นสูงโค่นล้มง่าย ทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตยาก ผลผลิตได้เพียง 600-700 กว่า กก. แถมเสี่ยงเสียหายจากโรคใบไหม้ และขอบใบแห้ง โรคยอดฮิตในข้าวเหนียว

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน วิจัยพันธุ์ข้าวมุ่งเน้นไปที่การต้านทานโรค จนประสบความสำเร็จได้ข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ 

น่าน 59...ที่พัฒนาพันธุ์มาจากข้าวเหนียว กข 6

“การพัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวครั้งนี้ หน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และไบโอเทค ได้ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ด้านโมเลกุลเครื่องหมายคัดเลือก และจำแนกสายพันธุ์ข้าว เข้ามาปรับปรุงพันธุ์ตั้งแต่ปี 2546 มาประสบความสำเร็จในปี 2559 ได้ข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่มาทั้งหมด 20 สายพันธุ์ และเมื่อนำไปปลูกทดสอบเปรียบกับพันธุ์ข้าวชนิดอื่นๆ ซิวแดง, ธัญสิริน, หอมทอง, ก่ำเหนียว, ก่ำเจ้า, แม่โจ้, กข 6 และ กข 18 ปรากฏว่า ข้าวเหนียวสายพันธุ์ใหม่ เบอร์ 17 และ 18 ให้ผลผลิตสูงกว่า หอมกว่า และต้านทานโรคได้ดี จึงให้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า น่าน 59”

...

ดร.บุญรัตน์ จงดี หัวหน้าโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อความมั่นคงและยั่งยืน ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สวทช. บอกถึงที่มาของข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่...ที่มีความต้านทานโรคไหม้ในข้าวเหนียวได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเชื้อ และต้านทานเชื้อโรคขอบใบแห้งได้ 11 กลุ่ม จากเชื้อทั้งหมดที่มีอยู่ 13 กลุ่ม

นอกจากทนต่อเชื้อโรคได้กว้างขวางมากขึ้น น่าน 59 ยังมีความหอมกว่า กข 6 ต้นเตี้ยกว่า กข 6 ประมาณ 1 ฟุต

ที่สำคัญยังให้ผลผลิตเฉลี่ย 800-1,000 กก. ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของสภาพพื้นที่

จากการนำไปทดลองปลูกในหลายพื้นที่ของ จ.น่าน โดยเฉพาะแปลงของกลุ่มชาวนา บ.บุญเรือง ต.ไหล่น่าน อ.เวียงสา จ.น่าน พบว่า ลำต้นข้าวเหนียวยังแข็ง ทนทาน ไม่หักล้ม สามารถทนทานต่อแรงลมได้ดี ทำให้ใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยวแทนการใช้แรงงานคนได้ ข้าวแตกกอดี ให้ผลผลิตไร่ละ 1 ตัน เมล็ดข้าวเรียว หลังขัดสีไม่แตกหัก มีคุณภาพการหุงต้มดี และหอม รสชาติดี เหนียวนุ่มคล้ายพันธุ์ กข 6

ชาวนาสนใจข้าวเหนียว น่าน 59 ติดต่อได้ที่ 08-6118-3921.

กรวัฒน์ วีนิล