นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า การจัดอันดับประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก โดยองค์การ สหกรณ์ประชาชาติ เมื่อปี 2560 ประเทศไทยติดอันดับ 5 ของโลก เป็นรองจากจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ซึ่งขยะส่วนใหญ่เป็นขวดพลาสติก กล่องโฟม และเชือกอวนซึ่งติดอยู่กับแนวปะการัง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้อกีดกันทางการค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมประมง แบบเดียวกับกรณี IUU กรมประมง องค์การสะพานปลา ท่าเทียบเรือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ร่วมกับสมาคมประมงสมุทรสงคราม จัดโครงการสร้างจิตสำนึกลดขยะทะเล ด้วยการเปิดรับเรือประมงเข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ตุลาคมที่มาผ่านมา โดยมีเรือประมงเข้าร่วมโครงการ 3,000 ลำ
“ขยะทะเลส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะนักท่องเที่ยว เรือประมงที่ออกเรือจับสัตว์น้ำทะเล หากเป็นอวนล้อมเวลา 5 วัน จะมีขยะทั้งถุงพลาสติก ขวด กระดาษ ที่ลูกเรือกินแล้วโยนทิ้งลงทะเลมากถึง 40-80 กก.ต่อลำเรือ และอีกสาเหตุที่ทำให้ขยะพลาสติกในทะเลมีมาก มาจากขยะบนบกที่มีการจัดเก็บไม่เรียบร้อย ถูกน้ำพัดพาลงสู่ทะเล”
...
รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การจัดการขยะมูลฝอยท้องทะเล เริ่มตั้งแต่ศึกษาชนิด ปริมาณ แหล่งที่มา แล้วนำมาจัดทำฐานข้อมูล เพื่อหาวิธีการลดผลกระทบจากขยะทะเลต่อระบบนิเวศที่สำคัญ การลดปริมาณขยะทะเล โดยเฉพาะการสร้างจิตสำนึกในการลดขยะทะเล ควบคู่กับการเก็บขยะกลับขึ้นมากำจัดบนฝั่ง
นายพงศ์ธร ชัยวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย บอกว่า อาชีพประมงอยู่ได้ มีรายได้จากทะเล หากยังปล่อยให้ขยะมากขึ้น จะสร้างปัญหาต่อสัตว์น้ำ ปลา เต่า เครื่องมือประมงเสียหาย และยังส่งผลทำให้การทำประมงมีความยุ่งยาก ทางสมาคมฯจึงเริ่มปลุกจิตสำนึกให้กลุ่มชาวประมงในพื้นที่สมุทรสงคราม ช่วยกันหยุดทิ้งขยะใหม่ ร่วมกันเก็บขยะเก่าที่อยู่กลางทะเลกลับขึ้นฝั่ง มาตั้งแต่ปี 2555 รณรงค์เก็บขยะทะเลอย่างต่อเนื่อง ในช่วงแรกๆ บริเวณท่าเทียบเรือ ไม่มีถังขยะ เก็บมาแล้วไม่รู้จะไปทิ้งที่ไหนเป็นภาระชาวประมง จึงขอการสนับสนุนถังขยะจากหน่วยงานหลายแห่ง แต่ไม่ได้รับความสนใจ เพราะเป็นกลุ่มเล็กๆในชุมชน ชาวบ้านจึงช่วยกันรวมทุนซื้อหาถังไว้รองรับขยะจากเรือที่เข้าฝั่ง แล้วคัดแยกขายต่อให้กับรถรับซื้อของเก่า รายได้ส่วนนี้จะให้ลูกเรือซื้ออาหาร ของกิน นอกจากเป็นแรงจูงใจ ยังสร้างจิตสำนึกให้กลุ่มแรงงานรักทะเลไทยอีกด้วย.