แต่พระเถระอื่นๆโดนหมด
ป.ป.ช.ยันยืดเวลาให้เตรียมตัว 60 วัน ไม่เปลี่ยนแปลงประกาศยื่นแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรรมการมหาวิทยาลัยไหนออกก็มีเวลาเหลือเฟือหาคนแทน พร้อมสรุปชัดพระสังฆราชไม่ต้องยื่นทรัพย์สิน “หมอธี” กลับลำให้ว่าตามกฎหมาย ด้าน “สุธีร์” ยื่น 1,369 รายชื่อเครือข่ายให้นายกฯ หนุนโชว์บัญชีล้างทุจริต ยังเป็นประเด็นคาราคาซัง และความเห็นต่างในสังคม เกี่ยวกับประกาศ ป.ป.ช.ฉบับล่าสุด เรื่องการยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน โดยเฉพาะกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เตรียมยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่พอใจประกาศ ป.ป.ช.ดังกล่าว
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 12 พ.ย. ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหากรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยเตรียมยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่พอใจประกาศ ป.ป.ช.ที่ให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ว่า กรณีดังกล่าว ป.ป.ช.ส่งตัวแทนไปหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รวมถึงรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยรัฐบาลและ สนช.เป็นห่วงกรณีนี้พอสมควร การประชุม ป.ป.ช. วันที่ 13 พ.ย.นี้จะหยิบยกประเด็นปัญหาดังกล่าวมาพิจารณา ส่วนการขอให้ ป.ป.ช.ทบทวนบางตำแหน่งที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินนั้น ยืนยันว่าผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมาย แต่เมื่อประกาศ ป.ป.ช.
ก่อให้เกิดผลกระทบทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยบางคนประสงค์จะลาออก จึงต้องพิจารณาขยายระยะเวลาบังคับใช้ประกาศดังกล่าวทั้งฉบับ เบื้องต้นจะขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายที่จะมีผลในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ ออกไปอีกอย่างน้อย 60 วัน จะได้มีเวลาเหลือเฟือให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มีความประสงค์จะลาออกได้เตรียมตัว เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยที่ต้องหาคนมาทดแทนกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ลาออก แนวทางนี้จะทำให้การดำเนินการตามกฎหมายไม่สะดุด
...
พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ส่วนการจะทบทวนตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง เพื่อไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น ต้องมีเหตุผลที่รับฟังได้ ขณะนี้สังคมเองมีความเห็นเป็นสองด้าน ที่สุดแล้วต้องดูว่าเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร ประกาศ ป.ป.ช.ครั้งนี้แตกต่างจากประกาศตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริตปี 2542 ที่ ป.ป.ช.สามารถระบุได้ว่าจะให้ใครแสดงบัญชีทรัพย์สินแต่กฎหมายใหม่ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจดังกล่าว แต่มีหน้าที่ประกาศให้ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงทั้งหมดมาแสดงบัญชีทรัพย์สิน เมื่อถามว่า ครม.เป็นห่วงกรณีสมเด็จพระสังฆราชต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามประกาศดังกล่าวด้วย พล.ต.อ.วัชรพลตอบว่า ประเด็นนี้ ป.ป.ช.วินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว มีความชัดเจนว่าสมเด็จพระสังฆราชไม่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามประกาศ ป.ป.ช. เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานสงฆ์ที่โปรดเกล้าโดยพระมหากษัตริย์ แต่ไม่รวมถึงพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในสภามหาวิทยาลัย ดังนั้นพระเถระหลายๆ รูปก็จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งไม่ได้มีปัญหาอะไร
ด้าน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว. ศึกษาธิการ กล่าวว่า คิดว่าเรื่องนี้ ป.ป.ช.มีอำนาจในการตัดสิน คงต้องว่ากันไปตามกฎหมายกำหนด เรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของตน ส่วนที่มีกรรมการสภามหาวิทยาลัยจะลาออกจากตำแหน่งนั้น ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมายเช่นกัน เพราะเรื่องการลาออกหรือการแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ใช่อำนาจของ รมว.ศึกษาธิการ
ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล นพ. สุธีร์ รัตนะมงคลกุล ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) พร้อมเครือข่าย นำ 1,369 รายชื่อผู้สนับสนุนการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินของฝ่ายบริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัยทุกแห่ง ตามประกาศ ป.ป.ช. ยื่นถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ระบุว่า สภามหาวิทยาลัยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอก จากการสรรหาของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ทำให้ผู้บริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัยกลายเป็นพวกเดียวกันทั้งหมด และพบบางสถาบันถูกร้องเรียนผู้บริหารทุจริตการบริหารงบประมาณปีละ 2,000-3,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังพบการนำงบประมาณของมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปซื้อหุ้นของสถาบันการเงินที่มีผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการ รวมถึงเปิดสัมปทานให้ผู้ทรงคุณวุฒิบางคนรับงานก่อสร้างในมหาวิทยาลัย และมอบโควตานักเรียนโรงเรียนสาธิตให้ผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ไม่มีใครกล้า ตรวจสอบ ดังนั้น จึงควรแสดงบัญชีทรัพย์สินและขอให้ ป.ป.ช.ยืนยันบทบาทของตนเองในการทำหน้าที่ และพวกตนยินดีให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน เพียงแต่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ธ.ค. เร็วเกินไป จึงอยากขอให้พิจารณาขยายเวลาบังคับใช้