“แม่สั่งไว้ว่า พิเภกเป็นคนอ่อนแอไม่มีฤทธิ์เดช หากพลาดผิดอะไรต้องรู้อภัย” นี่เป็นคำอ้อนวอนของกุมภกรรณและอินทรชิตต่อทศกัณฐ์ ที่ทำให้พิเภกรอดตาย ก่อนถูกขับออกจากกรุงลงกา

พิเภกยักษ์เป็นนักปราชญ์ ใฝ่เรียน ใฝ่รู้ และใฝ่ในทางดี ชาติกำเนิดแม้จะเป็นยักษ์เป็นมาร ครั้นถึงเวลาต้องเลือกข้าง ด้วยดวงใจอันผ่องแผ้วจึงเลือกอยู่ข้างธรรมะ ละทิ้งข้างอธรรม เข้าไปสวามิภักดิ์ต่อพระราม นี่เป็นเพียงข้อคิดหนึ่งของโขนพระราชทาน ตอนพิเภกสวามิภักดิ์

“โขนพระราชทาน” จัดแสดงระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน เรื่อยไปจนถึงวันที่ 5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

โขนพระราชทานมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 แสดงมาทั้งหมดรวม 9 ชุด ล่าสุดชื่อพิเภกสวามิภักดิ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทอดพระเนตร ในรอบปฐมทัศน์ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันอังคารที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา

...

ในปี 2561 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้เลือกโขนรามเกียรติ์ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” มาจัดแสดง เพื่อสื่อถึงความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทยทุกคนที่มีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ยังสื่อถึงการรักษาความเที่ยงธรรมสุจริต

อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้กำกับการแสดง บอกว่า สำหรับการแสดงโขนครั้งนี้ ได้นำบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ฉบับต่างๆ อาทิ บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 2, รัชกาลที่ 6 นำมาสอดประสานปรับปรุงการดำเนินเรื่องให้กระชับเหมาะสมกับปัจจุบัน แต่ยังคงอนุรักษ์ศิลปะการแสดงแบบโขนหลวงไว้อย่างครบถ้วน โดยแบ่งเป็นตอนต่างๆ ได้แก่ องก์ที่ 1 สุบินนิมิต ประกอบด้วย ตอนที่ 1 พิเภกถูกขับ, ตอนที่ 2 พิเภกลาชายาและธิดา, ตอนที่ 3 เนรเทศ และองก์ที่ 2 ประกอบด้วย ตอนที่ 1 พบนิลเอก, ตอนที่ 2 สวามิภักดิ์, ตอนที่ 3 มณโฑทูลตัดศึก, ตอนที่ 4 สนามรบ และตอนที่ 5 แก้หอกกบิลพัท

ภายในห้องประชุมใหญ่ของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ก่อนการแสดงโขนผู้คนหลั่งไหลกันเข้ามาดูของที่ระลึก ถ่ายภาพเรือที่ใช้เป็นฉากเด่นของเรื่อง และภาพตัวอักษรชื่อตอนพิเภกสวามิภักดิ์ กันอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส

ก่อนเข้าไปนั่งชม เปิดข้อมูลอ่านพบว่าการแสดงโขนชุดพิเภกสวามิภักดิ์นี้ ผู้จัดทำบทได้นำบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ฉบับต่างๆ อาทิ บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 2, รัชกาลที่ 6 และบทโขนของกรมศิลปากรที่เคยจัดแสดงมาประมวลเข้าด้วยกัน

สนุกสนานอย่างไรเข้าไปนั่งตามลำดับที่ แม้จะเป็นห้องใหญ่ แต่ที่นั่งเกือบเต็มหมดทุกที่ พลันเสียงขอร้องจากเจ้าหน้าที่ก็ดังขึ้นว่า ขอให้ปิดโทรศัพท์และกล้องถ่ายภาพอย่างเด็ดขาด ไม่อนุญาตให้บันทึกภาพใดๆทั้งสิ้น

ทันทีที่แสงไฟจากโทรศัพท์สว่างขึ้นมา เจ้าหน้าที่จะเดินเข้ามาขอความร่วมมือ เพราะนอกจากฝ่าฝืนข้อห้ามแล้ว ยังรบกวนการชมของคนอื่นอีกด้วย

ดนตรีไทยบรรเลงปลุกเร้าใจครู่หนึ่ง แล้วม่านก็เปิดออก เริ่มการแสดงองก์ที่ 1 สุบินนิมิต เสนอตอนที่ 1 พิเภกถูกขับ ความตอนนี้ ทศกัณฐ์สุบินนิมิตว่า มีแร้งขาวบินมาแต่ทิศตะวันออก แร้งดำมาแต่ทิศตะวันตก เมื่อพบกันได้เข้าต่อสู้ แร้งดำแพ้ ร่างตกลงมากลายเป็นพวกยักษ์ และฝันอีกหนึ่งเรื่องว่า ตนเองถือกะลามีสายชนวนพาดอยู่ในมือ และมีหญิงรูปร่างอัปลักษณ์เข้ามาจี้จุดไฟที่สายชนวนจนไฟลุกติดมาไหม้มือ ทศกัณฐ์กลุ้มใจจึงออกว่าราชการ

...

ทศกัณฐ์เรียกให้พิเภก น้องชาย เข้ามาทำนายฝัน พิเภกผู้ถือความซื่อสัตย์สุจริต จึงทำนายว่าเป็นลางร้ายจะเกิดสงคราม ฝ่ายยักษ์จะพ่ายแพ้ ส่วนฝันอีกข้อนั้นเพราะนางสำมนักขาจะชักโยงให้ศึกครั้งนี้มาล้างอสุรพงศ์พรหม วิธีแก้คือ ให้ทศกัณฐ์ส่งนางสีดา มเหสีของพระราม ที่พาตัวมาคืนกลับไป

ทศกัณฐ์ฟังเข้าก็หัวร้อน พิโรธโกรธกริ้วกระทืบบาท เข้าทำร้ายถึงกับจะฆ่า แต่กุมภกรรณและอินทรชิตขอพระราชทานอภัยโทษและอ้างคำของพระมารดาว่าพิเภกเป็นคนอ่อนแอ ไม่มีฤทธิ์ หากพลาดผิดอะไรให้อภัย ทศกัณฐ์จึงขับไล่ออกจากลงกาและริบทรัพย์สมบัติ ให้นางตรีชฎาไปเป็นข้านางสีดาที่สวนขวัญ

ส่วนพิเภกนั้น ถอดมงกุฎเครื่องยศให้ตรีชฎาไปคืนทศกัณฐ์ ช่วงถอดหัวโขนคล้ายสะกิดให้คนดูได้คิดว่า “หัวโขน” ไม่ใช่สิ่งจีรังยั่งยืน เมื่อใดถึงคราวต้องถอดก็ต้องถอด ไม่มีใครสามารถช่วยได้ บทเรียนของพิเภกน่าจะกระตุกเตือนผู้คนในสังคมได้เป็นอย่างดี

แล้วมโหธรก็เชิญเสด็จพิเภกลงสำเภาออกไปจากกรุงลงกา ช่วงนี้มีบทเจรจาพูดคุยกันของคนในเรือ มีการ “นอกเรื่อง” รามเกียรติ์ เพื่อความสนุกสนานของผู้ชม ตัวอย่างเช่นพูดว่า ขึ้นไปบนหัวเรือแล้วก็อย่ากางมือเหมือนไททานิก สิ้นเสียงพูดก็เรียกเสียงฮาและเสียงปรบมือได้พองาม เรือแล่นออกไป ทำนองดนตรีเศร้าสร้อย ฉากเรือถือว่าเป็นความมหัศจรรย์พองาม เพราะทำได้เหมือนเรือแล่นออกไปจากท่าจริงๆ

ช่วงนี้เปิดโอกาสให้ผู้ชมพักครึ่งเวลา กลับมาต่อองก์ที่ 2 หอกกบิลพัท ตอน 1 พบนิลเอก ทหารของพระราม มีหน้าที่เป็นกองตระเวน พาพลวานรมาปฏิบัติหน้าที่ จนได้พบกับพิเภก พิเภกยอมให้นิลเอกจับตัวได้ และได้พาไปเข้าเฝ้าพระราม

แล้วก็ถึงตอนสวามิภักดิ์ พระรามซักถามถึงสาเหตุในการมาจากลงกา พิเภกก็ทูลสนองตามความจริง มิได้ทูลถึงความดีของตน และให้พระรามนั้นพิสูจน์ดูความจงรักภักดีของตนต่อไปในอนาคต และเปรียบเทียบตนเองว่า “ชนธรรมดาย่อมเห็นว่าสูญสิ้นมูลค่า ต่อเมธีมีปัญญาจึงเห็นว่าค่าทองคง” ทำให้พระรามพอพระทัย จึงให้สุครีพนำพระแสงศรไปประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาให้พิเภกดื่มสาบาน แล้วท้ายสุดได้พระราชทานแต่งตั้งให้พิเภกเป็นราชา พร้อมทั้งสวมมงกุฎพระราชทาน เท่ากับว่าพิเภกถอดหัวโขนยักษ์หรือมาร หันมาสวมหัวโขนฝ่ายเทพ หรือเทวดาแทน

...

ตอนต่อมาว่าด้วยเรื่องศึก นางมณโฑ มเหสี ยุยงว่าพิเภกเป็นไส้ศึกบอกความลับให้ศัตรู ให้ฆ่าเสีย ทศกัณฐ์เห็นด้วย สั่งให้มโหธรจัดทัพ เมื่อออกไปรบก็พยายามหลอกล่อพิเภกสารพัด ช่วงนี้มีคนภักดีกับพิเภกโผล่เข้ามา 3 คน สร้างความครื้นเครงบนเวทีเป็นอย่างมาก แต่ในที่สุดเมื่อทศกัณฐ์ได้ทีก็พุ่งหอกกบิลพัทใส่พิเภก แต่พระลักษมณ์ถลันออกมาป้องกัน จึงถูกหอกล้มสลบลง

ฝ่ายทัพทศกัณฐ์ได้ชัยชนะจึงยกกลับเข้าเมือง พิเภกทูลพระรามถึงวิธีแก้ไข ให้ไปนำสรรพยา “สังกรณีตรีชวา มูลโคอศุภราช แม่หินบดยาจากท้าวกาลนาด และที่สำคัญคือ ลูกหินบดยาที่ทศกัณฐ์ทำเป็นเขนยหนุนนอนอยู่” หนุมานรับอาสาไปนำสรรพยาสิ่งต่างๆมาถวายพระรามได้ทันเวลา ทำให้พิเภกประกอบพิธีบดและผสมยาแก้พิษหอกกบิลพัทได้สำเร็จ แล้วเรื่องก็จบลงตรงพระราม พระลักษมณ์ พญาวานรพร้อมกองทัพจึงกลับคืนไปยังพลับพลาที่เขาคันธกาลา

คุณูปการของโขน ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เปิดเผยว่า ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการแสดงโขนซึ่งเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการสืบสานงานฝีมือเชิงช่าง ทั้งช่างทำหัวโขน ช่างปักสะดึงกรึงไหม และช่างเงินช่างทอง รวมทั้งศิลปะการแต่งหน้า และให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมตามแบบประเพณีโบราณงดงามเต็มรูปแบบ

...

นอกจากอนุรักษ์ศิลปะต่างๆที่นำมาใช้กับโขนแล้ว ยังแสดงให้เห็น “โขน” ของไทยว่างดงามแค่ไหน เพียงใด.