วิสาหกิจชุมชนตะเคียนเตี้ย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ถือเป็นอีกกลุ่มที่ประสบความสำเร็จตามนิยาม “ปลูกได้ ขายเป็น เน้นสตอรี มีดีที่แปรรูป” เรื่องปลูกคงไม่ต้องพูดถึง แต่ที่เด่นคือ จับการแปรรูปมาผูกกับสตอรีได้อย่างลงตัว สามารถขายกะลามะพร้าวได้สูงถึง กก.ละ 1,000 บาท
อภิญญา ทิพนาค ชาวบ้านตะเคียนเตี้ย เล่าถึงที่มาก่อนรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนตะเคียนเตี้ย...ในอดีตพื้นที่นี้น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ชาวชุมชนมีอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่ต่อมาน้ำทำนาเริ่มไม่เพียงพอ ชาวบ้านจึงหันไปปลูกมะพร้าวพันธุ์หมูสี ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมือง ควบคู่กับทำนา จนพัฒนาสู่การทำเกษตรผสมผสานในปัจจุบัน
“มะพร้าวพันธุ์นี้เป็นพันธุ์กินผลอ่อน น้ำหวานแต่ไม่หอม เนื้อในมะพร้าวเป็นกะลาอ่อนรสชาติกรุบกรอบ มัน หวาน หอม อร่อย คนในชุมชนจึงนิยมกินกะลามะพร้าวอ่อนกันมานาน และขายเป็นมะพร้าวกินผลอ่อน จนก่อเกิดเป็นภูมิปัญญาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สร้างชื่อให้ชุมชนมานาน โดยเฉพาะ แกงไก่กะลา ผัดฉ่ากุ้งกะลาอ่อน”
อภิญญา เล่าอีกว่า เมื่อเริ่มมีคนรู้จักขึ้น เลยมีแนวคิดนำกะลามะพร้าวมาแปรรูป โดยนำกะลาอ่อนมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำแช่ในน้ำมะนาวผสมน้ำตาลทรายแดง เพื่อไม่ให้กะลาอ่อนสีคล้ำ บรรจุถุงแล้ววางขายในชุมชน ปรากฏว่ามีร้านอาหารหลายแห่งในกรุงเทพฯ มาสั่งจองจนผลิตไม่ทัน แม้จะราคาสูงถึง กก.ละ 1,000 บาทก็ตาม
...
“ใน 1 รอบการผลิตใช้มะพร้าว 50 ลูก ได้ผลผลิตเป็นกะลาอ่อนประมาณ 2 กก. เดิมขายกันเป็นลูก ลูกละ 25 บาท ได้เงินอย่างดี 600 กว่าบาท แถมเสียเวลาต้องมานั่งปอกสับ ที่ผ่านมาจึงมีแต่คนในพื้นที่ซื้อขายกันเอง แต่พอมาแปรรูปให้ลูกค้านำไปต้มยำทำแกงได้ง่าย นอกจากเพิ่มมูลค่าได้แล้ว ยังทำให้อาหารพื้นถิ่นของเราได้รับความนิยมจากคนที่อื่นมากขึ้น ขณะเดียวกัน คนยังนิยมเข้ามาท่องเที่ยวสัมผัสบรรยากาศพื้นถิ่นกันมากขึ้นอีกด้วย”
ด้วยการแปรรูปจนกลายเป็นสตอรีเฉพาะตัวของชาวชุมชน นี่เอง ปัจจุบันชุมชนตะเคียนเตี้ย ได้รับการสนับสนุนจาก องค์การบริหารการพัฒนา พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ให้กลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรม และ สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ร่วมมือกับ อพท. ขยายผลการพัฒนาไปสู่ชุมชนอื่น โดยมีที่นี่เป็นต้นแบบ สนใจติดต่อได้ที่ 08-7984-6652.