สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้ให้นิยามความหมายของคำว่า “นวัตกรรม” เอาไว้ว่า หมายถึงสิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม
นอกจากนี้ “นวัตกรรม” ตามความหมายที่คนทั่วไปเข้าใจ ยังหมายถึงการนำเอาวิธีการใหม่มาปฏิบัติหลังจากที่ได้ผ่านการทดลอง และได้รับการพัฒนามาเป็นลำดับแล้ว ซึ่งมีความแตกต่างจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติมา
หรือพูดให้ฟังดูเห็นภาพชัดยิ่งขึ้น ก็ต้องบอกว่า นวัตกรรมหมายถึงสิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้ ทักษะประสบการณ์ และความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาขึ้น ซึ่งอาจจะมีลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ หรือกระบวนการใหม่ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ และสังคมก็ได้
แต่ไม่ใช่ว่าอะไรต่อมิอะไรรอบตัวคนเราจะถูกเหมารวมว่าเป็นนวัตกรรมไปเสียหมด เพราะสิ่งใดจะเรียกว่า “นวัตกรรม” ได้ อย่างน้อยสิ่งนั้นต้องมีองค์ประกอบสำคัญครบทั้ง 3 อย่าง คือ
1.ความใหม่ (Newness) หมายถึง เป็นสิ่งใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้น ซึ่งอาจเป็นตัวผลิตภัณฑ์บริการ หรือกระบวนการ โดยอาจเป็นการปรับปรุงมาจากของเดิม หรืออาจจะพัฒนาขึ้นมาใหม่เลยก็ได้
2.ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ (Economic Benefits) นั่นคือ นวัตกรรมต้องสามารถทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาสิ่งใหม่นั้นๆ ซึ่งผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น อาจวัดออกมาในรูปของตัวเงินโดยตรง หรือไม่ใช่ตัวเงินโดยตรงก็ได้
3.การใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ (Knowledge and Creativity Idea) สิ่งที่จะเป็นนวัตกรรมได้ ต้องเกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์เป็นฐานของการพัฒนา ไม่ใช่เกิดจากการลอกเลียนแบบ หรือการทำซ้ำ
ถ้ายึดเอาตามหลักเกณฑ์ หรือนิยามความหมายนี้ “ยกทรงฉุกเฉิน” ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อสามารถเปลี่ยนจากสิ่งที่ใช้ประคองเต้านม ให้กลายเป็นหน้ากากป้องกันแก๊สพิษ ระเบิดเคมี สารพิษชีวภาพ และสารพิษอื่นๆได้ ก็น่าจะนับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่สมควรได้รับการยกย่องจากชาวโลก
...
เพราะในวันที่สังคมโลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยสารพัดเภทภัยรอบตัว จากน้ำมือของนักก่อการร้ายหรือพวกบ้าคลั่งความรุนแรงทั้งหลาย
ลองหลับตานึกภาพ...เพียงแค่คุณเป็นผู้หนึ่งที่ต้องโดยสารรถไฟใต้ดิน หรือจำเป็นต้องเดินเฉียดเข้าไปในกลุ่มม็อบที่กำลังเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่หน่วยปราบจลาจล
จู่ๆคุณอาจจะตกเป็นเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากการใช้สารพิษอย่างที่โดนกันมาแล้วในรถไฟใต้ดินที่ญี่ปุ่น หรือไม่ก็อาจโดนรมด้วยแก๊สน้ำตา ยามมีการสลายม็อบในหลายๆประเทศ...อย่างง่ายดาย
โชคดีที่วันนี้มีผู้คิดค้น “ยกทรงฉุกเฉิน” ขึ้นมา แม้มันจะถูกหลายคนมองว่า เป็นนวัตกรรมขำๆ...แต่ถ้าต้องตกเป็นเหยื่อในสถานการณ์จริงแล้วไม่มีเครื่องช่วยชีวิตชิ้นนี้ติดตัวไว้ เชื่อว่าหลายคนคงขำไม่ออก!!!
ดร.วรชัย ทองไทย หนึ่งในนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า “ยกทรง” (bra) ตามความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ หมายถึง เครื่องนุ่งห่มชั้นในของสตรี ที่สวมใส่เพื่อปกปิดและพยุงเต้านม
สิ่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ โดยสตรีในยุคนั้นจะสวมยกทรง ซึ่งมีลักษณะเป็นแถบทำด้วยขนสัตว์หรือฝ้ายในขณะเล่นกีฬา แต่ปัจจุบันยกทรงกลายเป็นเสื้อชั้นในปกติที่สตรีสามารถสวมใส่ได้ทุกเวลา
เขาบอกว่า ยกทรงที่เห็นกันตามรูปแบบปัจจุบัน ได้ถูกจดสิทธิบัตรครั้งแรกที่ประเทศเยอรมนีตั้งแต่ปี ค.ศ.1899 หรือเมื่อ 119 ปีที่แล้ว
อ.วรชัยเล่าว่า ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งที่มีการผลิตยกทรงกันขนานใหญ่ ทางบริษัทผู้ผลิตได้พยายามสร้างมาตรฐานของขนาดยกทรงขึ้น แต่ก็ยังตกลงกันไม่ได้จนกระทั่งทุกวันนี้
เฉพาะที่สามารถตกลงใช้ร่วมกันได้ทั่วไป มีแค่การบอกขนาดยกทรงด้วยตัวเลขและตัวอักษร โดยตัวเลขบอกความยาวรอบอกและตัวอักษร (A B C D E F) บอกขนาดของคัพ (cup) หรือขนาดของเต้านมเท่านั้น
เช่น ยกทรงขนาด 34 B หมายถึง ยกทรงที่มีความยาวรอบอก วัดที่ฐานนมเท่ากับ 34 นิ้ว และขนาดของคัพเท่ากับ B โดยค่าของคัพคำนวณจากความแตกต่างระหว่างความยาวรอบอกที่วัดผ่านหัวนมกับความยาวรอบอกที่วัดจากฐานนม
ดร.วรชัยบอกว่า ค่าของคัพเริ่มจากน้อยไปหามาก กล่าวคือ คัพ A คือน้อยที่สุด คัพ F คือมากที่สุด (ประเทศที่ใช้ระบบเมตริก ตัวเลขความยาวรอบอก จะใช้หน่วยวัดเป็นเซนติเมตรแทนนิ้ว)
นอกจากนี้ ขนาดของยกทรงแต่ละยี่ห้อก็ยังแตกต่างกันไปอีกด้วย การใส่ยกทรงที่ไม่พอดีตัวอาจทำให้ปวดหลังและคอได้ ผู้ใส่จึงควรจะทดลองใส่ก่อนซื้อทุกครั้งที่เปลี่ยนยี่ห้อ หรือเมื่อน้ำหนักตัวเปลี่ยนไป ก็ควรทดลองใส่ก่อนซื้อด้วยเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกที่ทุกวันนี้สตรีประมาณร้อยละ 80-85 ที่ใส่ยกทรงผิดขนาด เพราะยังคงซื้อยกทรงตามขนาดเดิมที่ใช้อยู่
“แม้ยกทรงเป็นสินค้าแฟชั่นที่ผลิตขึ้นเพื่อความสวยงามมากกว่าเพื่อประโยชน์ใช้สอย แต่ก็ยังมียกทรงที่ผลิตขึ้นเพื่อส่งเสริมสุขภาพด้วย เช่น ยกทรงชนิดให้นม (nursing bra) เป็นยกทรงที่สตรีใช้ในช่วงให้นมลูก ซึ่งสามารถให้นมลูกได้โดยไม่ต้องถอดยกทรง โดยออกแบบให้ส่วนที่ประคองเต้านมสามารถเปิดและปิดได้ด้วยมือเพียงข้างเดียว
ยกทรงกีฬา (sports bra) มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเจ็บปวด และความอึดอัดหน้าอก อันเนื่องมาจากการแกว่งตัวของเต้านมในระหว่างออกกำลังกาย ยกทรงกีฬามีรูปร่างเหมือนเสื้อกล้ามที่สั้นแค่หน้าอก ทำให้ยกทรงกีฬาบางยี่ห้อถูกออกแบบเพื่อให้ใช้เป็นเสื้อผ้าชั้นนอกได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี ค.ศ.2007 Elena N. Bodnar นักวิทยาศาสตร์ชาวยูเครน ได้จดสิทธิบัตรนวัตกรรมที่เรียกว่า “ยกทรงฉุกเฉิน” ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับเพื่อนร่วมงานอีก 2 คน คือ Raphael C. Lee และ Sandra Marijan
...
โดยยกทรงชนิดนี้สามารถเปลี่ยนการใช้งานไปเป็นหน้ากากป้องกันแก๊สพิษ อันเกิดจากการระเบิดของสารเคมี สารพิษชีวภาพ และสารพิษอื่นๆ ซึ่งความคิดที่จะประดิษฐ์หน้ากากฉุกเฉินนี้ เกิดขึ้นมาจากประสบการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์ชาวยูเครนผู้นี้ได้เห็นการระเบิดของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl nuclear disaster) เมื่อหลายปีที่แล้ว
ทั้งเธอและเพื่อนนักประดิษฐ์อีก 2 คน จึงได้รับรางวัลโนเบล สาขาสาธารณสุขไปครอง
ผู้รู้บางคนเคยเตือนไว้ สิ่งใดที่มีฉายในหนังฮอลลีวูด หรือเคยเกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ สักวันอาจจะเกิดขึ้นในเมืองไทย เพื่อความไม่ประมาท บริษัทผู้ผลิตยกทรงบ้านเราควรรับเอานวัตกรรมนี้ไปสานต่อ แทนที่จะผลิตแต่ยกทรงที่เน้นเรื่องความงามเพียงอย่างเดียว.