“ชีวิตเรามันชอบความสุข ยังละกิเลสไม่ได้หมอมีเพื่อนคนหนึ่งชอบทั้งของหวานๆ ชอบทั้งสูบบุหรี่ บอกให้เลิกทั้งสองเลยเพราะเดี๋ยวหัวใจ สมอง จะรับไม่ไหว

เพื่อนบอกว่าไม่ไหวหรอก ขอเลิกอย่างเดียวได้ไหม หมอบอกผมหน่อย เลิกอันไหนดี ชอบทั้งคู่เท่ากันเลย”

“หมอดื้อ” หรือ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดมุมมองต่อไปถึงเรื่อง “อาหาร” และ “ขนมหวาน”

ด้วยเพราะว่าเรื่องนี้สำคัญเพราะ “คนไทย” เป็น “เบาหวาน” กันเยอะ

“ส่วนนึงก็เป็นเพราะยีนของเรา ซึ่งถ้าเทียบกับฝรั่งหัวทองแล้ว เรามีความเสี่ยงมากกว่า เป็นห่วงสุขภาพพวกเรานะ เพราะเบาหวานเป็นต้นตอของสิ่งเลวร้ายหลายอย่างที่ตามมา เช่น ไตวายและตาบอด

คนไทยเองถึงจะเห็นดาราสาวๆผอมเปรียบได้กับไม้จิ้มฟัน

แต่ปรากฏว่า...ประชากรของเราน้ำหนักเกินเยอะมาก อันนี้อ้างอิงจากสุขภาพคนไทยปี 2557 ว่า 1 ใน 3 น้ำหนักเกิน และ 1 ใน 10 อ้วน”

น่าสนใจว่าตัวเลขข้างต้นนี้เมื่อเทียบกันกับ 20 กว่าปีที่ผ่านมานั้น เพิ่มมาถึง 2 เท่าตัวเลยทีเดียว

ข้อมูลเสริมจากอีกรายงานก็ระบุว่าคนไทยเราเป็นห่วงน้ำหนักกันมาก อยากจะผอม แต่ดูท่าจะไม่สำเร็จกันเยอะ เพราะคงจะยากจริงๆ ลูกชายหมอดื้อเองก็ขนาดเป็นหมอ ยังพยายามลดอยู่

กินข้าวด้วยกันทีไร ตบท้ายด้วยเค้ก น้ำแข็งไสตลอด ยังดีเดี๋ยวนี้ไม่กินน้ำอัดลม กาแฟไทยโบราณ ชาเย็น นมเย็นชมพู น้ำชาขวดใส่น้ำตาล แต่หันมากินชาเขียวไร้น้ำตาล กาแฟดำไม่ใส่น้ำเชื่อมเท่านั้น

พอกินก๋วยเตี๋ยว ก็จะกินเกาเหลา ปรุงโดยเลี่ยงน้ำตาล และลดเค็ม นอกจากนั้นน้ำผลไม้ก็กินแต่ที่มีกาก และพยายามกินผลไม้ที่มีกากใยมากขึ้น แต่กินผลไม้ก็ระวังทุเรียน กล้วย และผลไม้หวาน เพราะให้พลังงานเยอะ และจะทำให้น้ำหนักขึ้น

...

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ย้ำว่า แต่...การที่อดใจขนมหวานเย้ายวนไม่ไหว คงจะไม่ใช่คนเดียว เพราะร้านขนมหวานก็เข้าตลาดหุ้นไปแล้ว

มาถึงเรื่อง “น้ำตาล” กันบ้าง อย่างที่พอจะรู้ๆกันมาบ้างแล้วว่าน้ำตาลนั้นมีหลายชนิด หลักๆที่เรารู้จักกันก็คือ “กลูโคส” หรือน้ำตาลบนโต๊ะอาหาร พอกินหวานที่มีกลูโคสมากๆ จะเพิ่มความเสี่ยงเป็นเบาหวานไหม พวกเราอาจจะเคยได้ยินว่า...กินหวานมาก ตับอ่อนเลยต้องทำงานเยอะ

โดยต้องหลั่งสารอินซูลินมาลดน้ำตาลในเลือด และทำให้น้ำตาลถูกดูดซึมเข้าเซลล์ในร่างกายได้พอทำงานเยอะเข้าเลยไม่ไหวจึงเป็นเบาหวานในที่สุด อันนี้อาจจะไม่ใช่ซะทีเดียวเพราะเบาหวานนั้น

นอกจากเรื่องที่กล่าวมาแล้วยังเป็นเรื่องกรรมพันธุ์ โดย...ความอ้วนเป็นส่วนสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงโดยเฉพาะอ้วนลงพุง เพราะไขมันที่อยู่รอบเอวและเครื่องในช่องท้องนั้น ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และทำให้เซลล์ในร่างกายดื้อกับอินซูลิน

ประเด็นนี้ “หมอดื้อ” เคยเขียนในบทความร่วมกับ อาจารย์แพทย์หญิงประพิมพ์พร (ฉันทวศินกุล) ฉัตรานุกูลชัย โรงพยาบาลรามาธิบดี ในปี 2556 เอาเป็นว่า...

“กินหวานมากจนอ้วน ก็เสี่ยงจะเป็นเบาหวานมากขึ้น”

อีกอันก็คือ “ฟรักโทส” ซึ่งเป็นน้ำตาลในผลไม้ และได้นำมาใช้ในการปรุงรสหวาน เช่น ในน้ำชาบรรจุขวดที่ขายในร้านสะดวกซื้อเป็นต้น อันนี้...น้ำตาลธรรมชาติน่าจะดี เพราะกินผลไม้ก็ได้ความหวานจากฟรักโทส แต่ทว่าปัญหาสำคัญก็คือ...ฟรักโทสที่เอามาปรุงแต่งรสหวานไม่ได้มีกาก มันไม่ได้ช่วยชะลอการซึมซับ และจำนวนที่ใช้ก็สูงกว่าที่เรากินผลไม้

“เมื่อไม่มีกากมาช่วยในการชะลอการดูดซึม ระดับฟรักโทสในเลือดก็จะสูงขึ้นเร็วกว่าปกติ ร่างกายไม่สามารถใช้ฟรักโทสได้ทันทีจึงต้องไปผ่านการสังเคราะห์จากตับ และพอระดับมันสูงเร็วกว่าที่ได้จากผลไม้ ตับก็ทำงานหนัก”

แต่...อันนี้เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าแย่ต่อร่างกายยังไง เพียงมีวิจัยว่าทำให้มีไขมันมาเกาะในตับมากขึ้น (non-alcoholic fatty liver disease)

นอกจากเบาหวานแล้วคำถามต่อไปมีว่า...เมื่อเราๆท่านๆกินหวานเข้าไปแล้วจะมีผลเสียอะไรกับร่างกายบ้าง?

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ แถลงไขให้ความกระจ่างว่า น้ำตาลนี้ไม่ธรรมดา นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงที่เป็นเบาหวานแล้วแน่ๆ แต่ไอ้น้ำตาลตัวเล็กเนี่ยก็ยังสามารถแทรกซึมไปได้หมดเลย โดยมีการศึกษาใน JAMA internal medicine 2014 ว่า...กินหวานเสี่ยงตายจากโรคหัวใจสูงขึ้น 38%

และมีอีกคือ...จากการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ทำให้เกิดการทำลายเส้นเลือดและรวมถึงผนังของเส้นเลือด เปิดโอกาสให้ไขมันเข้าไป ทำให้เส้นเลือดตีบและตันในที่สุด นอกจากนั้นยังทำลายความยืดหยุ่นของผนังเส้นเลือด พอมันยืดไม่ได้...หดก็ไม่ดี ก็ทำให้ปริมาณของเลือดที่ไปสู่อวัยวะต่างๆไม่สมดุล และเป็นส่วนที่ทำให้ความดันสูงขึ้น ความดันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยงโรคหัวใจ

“การที่เส้นเลือดผิดปกติ ยังทำให้การส่งสารสำคัญไปยังอวัยวะต่างๆ และการระบายของเสียออกเกิดผิดพลาด รวมทั้งในเนื้อเยื่อสมอง... ถึงน้ำตาลจะสำคัญกับสมองมาก เพราะถ้าน้ำตาลต่ำมาก เป็นเวลานาน ...สมองตายกลายเป็นผักได้เลยครับ”

แต่...สูงไปก็ไม่ดีเพราะภาวะดื้ออินซูลินทำให้มันไม่สามารถลดน้ำตาลในสมองได้เร็วพอ ต้องรอให้สมองใช้น้ำตาลไปทีละนิด พอน้ำตาลในสมองสูง ร่วมกับภาวะอักเสบที่มีผลต่อเส้นเลือดและต่อเซลล์สมอง

จะทำให้เข้าวงจรวิกฤติพลังงานของสมอง เริ่มจากส่วนความจำและส่วนการตัดสินใจ...จะถูกทำลายไปเรื่อยๆ กินหวานมากนานๆเข้าเลยยิ่งเสี่ยงสมองเสื่อม

คำแนะนำในขณะนี้ ณ วันนี้ก็คือ “น้ำตาล”...ปรุงรสไม่เกิน 6 ช้อนชาในผู้หญิง และ 9 ในชาย ไม่นับที่เจออยู่ในธรรมชาติ เช่นในผลไม้ ตัวอย่างก็คือชาใส่น้ำตาลขวดนึงก็หลายช้อนแล้ว แต่ถ้าขี้เกียจมานั่งคำนวณว่ากี่ช้อนแล้วนะวันนี้ก็แนะนำอย่างที่ลูกชายหมอทำที่กล่าวไว้ตอนต้น แต่ก็ลดเค้ก ขนมหวานไปด้วย

...

และ...กินผักปลอดสารพิษเยอะขึ้น เพราะสารเคมีพิษฆ่าหญ้า แมลงก่อให้เกิดภาวะอักเสบนำสู่สมองเสื่อม เบาหวาน ไตวาย มะเร็ง ส่วนรัฐบาลจะมีส่วนช่วยประชาชนได้ยังไงก็ต้องแบนสารเคมีพิษไง และบังคับการเขียนแคลอรี แน่นอนว่าการใช้ “ภาษีความหวาน” นั้นถือเป็นเรื่องดี

“...จะได้เป็นการสนับสนุนบริษัทเครื่องดื่มหรืออาหารให้ลดน้ำตาล และพอมีราคาแพงขึ้นพวกเราก็อาจจะหันไปกิน...ดื่มที่มีน้ำตาลน้อยหรือไม่มี ที่สำคัญเลย...ภาษีความหวานที่เก็บมาก็ต้องเก็บไว้สำหรับสาธารณสุข เบาหวาน ตา ไต ทั้งนี้ การโฆษณาจากบางหน่วยงานใช้เงินตั้งเยอะในการสนับสนุนให้คนไทยสุขภาพดี แต่ก็ยังไม่เห็นผลเท่าที่ต้องการ”.