ผมเจอหนังสือ นิทานสุภาษิต ลิขสิทธิ์คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่บูธสำนักพิมพ์ สก.สค.ในงานมหกรรมหนังสือฯ ความรู้สึกเหมือนเจอของรักที่หาย ก็รีบซื้อมาอ่าน

หนังสือเล่มนี้ กรมศึกษาธิการจัดพิมพ์ขึ้น เมื่อ ร.ศ.128 (พ.ศ.2451) เพื่อให้เป็นหนังสือสอนอ่าน แผนกการสอนจรรยา ให้ชื่อว่า หนังสืออ่านจรรยา นิทานสุภาษิต

เมื่อแรกคิดให้มีหนังสือเล่มนี้ กรมศึกษาธิการได้ประกาศให้สมาชิกของสามัคยาจารย์สมาคมแต่งประกวดกัน ฉบับของใครดีพอจะใช้ได้ ก็เลือกเอาของคนนั้น

หลายเรื่อง ผมจำได้เคยอ่าน แต่อีกบางเรื่อง เช่น เรื่องราชสีห์กับเขียดน้อย แม้เคยอ่านแล้วตอนยังเด็ก แต่เมื่ออ่านตอนแก่ ได้ความรู้สึกแปลกใหม่

ผู้แต่ง พระยาวิจิตรธรรมปริวัตร (คำ พรหมกสิกร) ต่อไปนี้ เป็นสำนวนท่านทุกคำ

แต่ก่อน มีราชสีห์ตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ในถ้ำ

วันหนึ่งนั้น ราชสีห์ออกจากถ้ำไปเที่ยวหาอาหารกินตามป่า ครั้นไปถึงชายทุ่งใกล้บึงใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยกอบัวและดอกบัว

ขณะนั้นมีเขียดน้อยตัวหนึ่ง มาเกาะอยู่บนใบบัว แลเห็นราชสีห์เข้ามาใกล้ จึงนึกแต่ในใจว่า

“อือ! นี่เป็นสัตว์อะไรหนอ ร่างกายโตใหญ่น่ากลัวยิ่งนัก”

แล้วเขียดจึงถามว่า “ท่านชื่อไร เข้ามาในที่นี้จะประสงค์อะไร”

ราชสีห์ตอบว่า “เจ้าไม่รู้หรือ เรานี่แหละคือพระยาราชสีห์ ผู้เป็นใหญ่กว่าสัตว์สี่เท้าทั้งปวง”

เขียดจึงว่า “ขอท่านจงหลีกไปเสียให้พ้นเถิด อย่าได้เข้ามาเบียดเบียนเหยียบย่ำที่ของข้าพเจ้าเลย”

ราชสีห์ได้ยินเขียดห้ามดังนั้น ก็บันดาลโทสะขึ้นมา จึงร้องท้าไปว่า

“เฮ้ย! เขียด มึงเป็นแค่สัตว์เล็กน้อย ทำไมจึงมาบังอาจห้ามกูดังนี้เล่า มึงจะลองกำลังกับกูหรือ”

...

เขียดตอบว่า “นี่แน่ะท่านพระยาราชสีห์ ท่านถือว่าท่านเป็นใหญ่ มีอำนาจมากจึงมาขู่ตวาดเช่นนี้ ถึงท่านเป็นใหญ่ ก็เป็นใหญ่แก่สัตว์ในป่าดอก ท่านอย่ามาท้าทายข้าพเจ้าเลยจงหลีกไปเสียเถิด ข้าพเจ้าไม่สู้กับท่านแล้ว”

ราชสีห์ได้ฟัง ก็ยิ่งมีโทสะมากขึ้น จึงแผดเสียงขึ้น หวังจะให้เขียดตาย

แต่เขียดฉลาดก็กระโดดลงไปในน้ำเสีย พอสงบเสียงแล้ว ก็กระโดดขึ้นมาเกาะอยู่บนใบบัวดังเก่าอีก

ราชสีห์เห็นดังนั้น ก็ยิ่งมีโทสะหนักขึ้น จึงแผดเสียงเต็มแรง

ก็เลยสิ้นกำลังอกแตกตาย อยู่ในที่นั้นเอง

นิทานเรื่องนี้จบลงตรงนี้ ไม่มี “สอนให้รู้ว่า” ทิ้งท้ายเหมือนเล่มที่ผมอ่านตอนเรียนชั้น ป.เตรียม

วิธีที่ใช้หนังสือเล่มนี้ มีบอกในคำนำด้วยว่า จะให้นักเรียนหัดอ่านก็ได้ ให้เขียนตามคำบอกก็ได้ หรือจะเลือกใช้เป็นแบบฝึกหัดการย่อความ เรียงความก็ได้

แต่ทางที่เหมาะแท้ ควรจะสอนโดยวิธีสนทนา ถามให้นักเรียนออกความเห็นต่างๆ

ผมชอบวิธีใช้ข้อหลัง จึงอยากให้ย้อนไปอ่านนิทานเรื่องราชสีห์กับเขียดน้อยอีกครั้ง แล้วลองตั้งเป็นคำถาม

ระหว่างความน่าสังเวชกับความน่าสงสาร ข้อไหนถูกกับนิยามบทบาทพระยาราชสีห์

แต่ถ้าจะมีนักเรียนบางคนเห็นว่า พระยาราชสีห์ตัวใหญ่และโง่ได้ขนาดนั้น นิยามความเห็นควรเป็นว่าถูกทั้งสองข้อ

...ตามคำแนะนำการใช้นิทานสอนจรรยา นี่เป็นการศึกษา ก็ไม่ควรว่ากัน.

กิเลน ประลองเชิง