ศ.นพ.อุดม - ดร.สมบัติ - ดร.ดิเรก

หลักสูตรผลิตครู “4 ปี” หรือ “5 ปี” ข้อถกเถียงในแวดวงการศึกษาที่ทุกคนในสังคมไทยกำลังจับตาดูว่า จะเดินไปในทิศทางใดและความคิดเห็นที่แตกต่างนี้จะลงเอยอย่างไร

“ทีมการศึกษา” ขอนำเสนอแนวคิดของผู้สนับสนุน “หลักสูตรผลิตครู 4 ปี” และ “หลักสูตรผลิตครู 5 ปี” ซึ่งต่างฝ่ายก็มีข้อดีในการผลิตแม่พิมพ์ออกมาอบรมสั่งสอนลูกหลานของเราในอนาคต

ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ ผู้จุดประกายความคิดเรื่องนี้ กล่าวว่า “เนื่องจากบริบทของโลกมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเทคโนโลยีก็เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน เราจำเป็นต้องมีการปรับปรุงการเรียนการสอนทุกสาขาวิชาชีพ ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการปรับปรุง หลักสูตรสาขาวิชาชีพต่างๆไปเรียบร้อยแล้ว หรือที่เราเรียกว่า โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อให้คนรุ่นใหม่มีสมรรถนะที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21ขณะที่หลักสูตรผลิตครู ที่เราต้องการผลิตครูรุ่นใหม่ออกมาสอนลูกหลานของเราให้สามารถตอบโจทย์ในอนาคตได้ และเราจำเป็นต้องดำเนินการให้เร็ว จึงต้องกลับมาทบทวนหลักสูตรผลิตครู ซึ่งที่เราทำอยู่คือ 5 ปี โดยใช้มาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งก็เหมาะสมกับแนวคิดในขณะนั้นที่ต้องการให้ครูมีสมรรถนะเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อโลกเปลี่ยนเราก็อยากเสนอทางเลือกให้ปรับหลักสูตรผลิตครู ที่ลดเวลาเหลือ 4 ปี แต่ยังสามารถคงคุณภาพของครูรุ่นใหม่ไว้ได้ โดยปรับกระบวนการเรียนการสอนใหม่ให้เหมาะสม โดยเฉพาะในส่วนของการเรียนเนื้อหาสาระนั้น สามารถลดลงได้ เพราะทุกอย่างเราสามารถค้นคว้าหาได้เองทางอินเตอร์เน็ต ทั้งความรู้ก็เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จากนั้นเราก็ใช้เวลาไปเพิ่มด้านกระบวนการสอน ปลูกฝังทัศนคติ จิตวิญญาณความเป็นครู ซึ่งเดิมหลักสูตรผลิตครู 5 ปี จะฝึกสอนในโรงเรียนในปีสุดท้ายของการเรียน สำหรับหลักสูตรผลิตครู 4 ปี เราจะปรับใหม่ โดยให้นิสิตนักศึกษาครู เริ่มฝึกสอนในโรงเรียนตั้งแต่ปี 1 และเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆจนถึง ปี 4 โดยระยะเวลาการฝึกสอนโดยรวมจะไม่น้อยกว่า 1 ปี”

...

“ผมขอยืนยันว่า เรื่องจำนวนเวลาเรียนกี่ปีไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งสำคัญอยู่ที่กระบวนการสอนที่เราต้องปรับปรุง การปรับหลักสูตรผลิตครูเป็น 4 ปี เป็นข้อเสนอ หรือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ หากต้องการปรับหลักสูตรก็สามารถดำเนินการได้ทันปีการศึกษา 2562 แน่นอน โดยผมได้หารือกับ ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) และ ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อปรับหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดย กมว.จะแก้ไขให้ผู้จบหลักสูตรผลิตครู 4 ปีขึ้นไปสามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ จากเดิมที่กำหนดว่าต้องจบ 5 ปี สำหรับ สกอ. ก็จะเป็นการปรับเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์และสาขาศึกษาศาสตร์ หรือ มคอ.1 ให้สอดคล้องกัน ส่วนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จะปรับปรุงหลักสูตรหรือไม่ก็ขึ้นกับสภามหาวิทยาลัยของแต่ละแห่ง กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้บังคับ แต่เสนอทางเลือกให้เท่านั้น” รมช.ศึกษาธิการกล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ ดร.สมบัติ นพรัก คณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า “การเปรียบเทียบระหว่างหลักสูตรครูเรียน 4 ปี และ 5 ปี ไม่สามารถทำวิจัยที่น่าเชื่อถือได้ เพราะตัวแปรแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และไม่มีความสัมพันธ์กันทั้งโครงสร้างหลักสูตร จำนวนปีที่ใช้ในการศึกษา นิสิตนักศึกษา กระบวนการเรียนการสอน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลผลิตของบัณฑิตครูปัจจุบันทั้งหมดล้วนผ่านการจัดการเรียนการสอนจากคณาจารย์ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่ผ่านการเรียนการสอนหลักสูตร 4 ปีเช่นกัน ดังนั้นการจะกล่าวว่าหลักสูตร 4 ปีไม่มีคุณภาพ ก็คงไม่ได้ ส่วนมุมมองปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์ พบว่า สถาบันผลิตครูที่เปิดสอนหลักสูตรผลิตครู 4 ปีจะมีรายรับลดลงจากเดิมที่เปิดสอนหลักสูตรผลิตครู 5 ปี เฉลี่ยปีละ 20,000 บาทต่อคน ด้านนิสิตนักศึกษานั้น ผู้เรียนหลักสูตรผลิตครู 4 ปี จะได้เริ่มทำงานก่อน 1 ปี และสำหรับผู้ที่ต้องเรียนหลักสูตรผลิตครู 5 ปี เมื่อต้องเรียนต่ออีก 1 ปี ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งค่าธรรมเนียมการเรียน ประมาณ 20,000 บาทต่อปี ค่าอาหาร ที่พัก การเดินทาง ประมาณเดือนละ 10,000 บาท รวมปีละ 120,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายปีละ 140,000 บาทต่อคน”

หันมาทางด้านผู้สนับสนุนหลักสูตร 5 ปี อย่าง ดร.ดิเรก พรสีมา ประธานที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ระบุว่า “ที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ทั้ง 38 แห่ง เห็นพ้องกันว่า สมรรถนะ คุณลักษณะ เนื้อหา และกิจกรรมการเรียนการสอนต้องใช้เวลาเรียนและการฝึกปฏิบัติการในโรงเรียนรวมทั้งสิ้น 5 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะส่งผลต่อคุณภาพในการผลิตครูให้ได้ตามเป้าหมายทั้งความรู้ ทักษะ คุณลักษณะความเป็นครูที่ดี มีจิตวิญญาณและความเชี่ยวชาญในการสอน หากลดเวลาการผลิตให้น้อยกว่า 5 ปี จะส่งผลกระทบต่อการเรียนทั้งเนื้อหาวิชาเอก วิชาชีพครูและการฝึกปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา อย่างไรก็ตาม หากต้องปรับหลักสูตรครูเป็น 4 ปี ก็จะต้องเรียนปีละ 3 ภาคการศึกษา โดยเพิ่มการเรียนในภาคฤดูร้อนทุกปี เพื่อเติมเต็มศักยภาพด้านต่างๆ”

“ทีมการศึกษา” มองว่าข้อดีของหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรผลิตครู 4 ปี หรือหลักสูตรผลิตครู 5 ปี ล้วนแต่มีเหตุผลที่อาจจะเหมาะสมกับช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่แน่นอนเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทุกหลักสูตรก็คงต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสมขึ้น แต่ไม่ว่าคณะครุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ หรือมหาวิทยาลัยเก่า จะจัดสอนเป็นเวลากี่ปีก็ตาม

ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ เราไม่อยากเห็นเรื่องนี้กลายเป็นข้อขัดแย้งหรือ “เผือกร้อน” ที่สร้างปัญหาในแวดวงการศึกษาชาติ เพราะเรามั่นใจว่า ทุกฝ่ายล้วนมีความจริงใจและปรารถนาดีด้วยกันทั้งสิ้น เพื่อผลลัพธ์สุดท้ายคือ คุณภาพของนักเรียน ซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติสืบต่อไป.

ทีมการศึกษา