การเปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (เว็บไซต์) จากทุกภาคส่วนเสร็จสิ้นไปแล้ว และปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข และเมื่อเสร็จแล้วจะมีการนำไปทำประชาพิจารณ์ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศอีกครั้ง
ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงถึงการปรับปรุงแก้ไข ยึดผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก เกษตรกรยังคงสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อไปในพื้นที่ของตนเองได้โดยไม่มีโทษใดๆ
ส่วนการขยายการคุ้มครองจากส่วนขยายพันธุ์ไปถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์นั้น ได้ขยายความคุ้มครองเฉพาะ “ผลผลิต” หรือ “ผลิตภัณฑ์” ที่เกิดจากส่วนขยายพันธุ์ที่ได้มาโดยมิชอบเท่านั้น แต่หากส่วนขยายพันธุ์นั้นได้มาอย่างถูกต้อง ผู้ผลิตมีสิทธิในผลผลิตและผลิตภัณฑ์นั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันการใช้ประโยชน์จากส่วนขยายพันธุ์ที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้อง
กรณีการปรับระยะเวลาคุ้มครองตามกลุ่มพืชจากเดิม พืชล้มลุก 12 ปี เพิ่มเป็น 20 ปี พืชไม้ผลไม้ยืนต้นจาก 17 ปีเป็น 25 ปี พืชให้เนื้อไม้จาก 27 ปี ลดเหลือ 25 ปี เนื่องจากในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชกว่าจะได้พันธุ์ใหม่จำเป็นต้องใช้ต้นทุน การปรับช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อให้นักปรับปรุงพันธุ์มีแรงจูงใจที่จะลงทุนและลงแรงในการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ๆ รวมทั้งเกษตรกร ประชาชนทั่วไป นักวิชาการซึ่งเป็นผู้ปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่และได้จดทะเบียนคุ้มครองจะได้รับผลประโยชน์ จากการขยายระยะเวลานี้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ได้มีการปรับแก้ที่มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากเกษตรกร นักวิชาการ องค์กรสาธารณประโยชน์ และภาคเอกชน จากการเลือกตั้งกันเอง เป็นแต่งตั้งทั้งหมด เพื่อลดขั้นตอนให้การแต่งตั้งสามารถทำได้รวดเร็ว มีความต่อเนื่อง แต่ยังคงไว้ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนเช่นเดิม
...
การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชในครั้งนี้ เป็นการปรับมาตรฐานการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยเกษตรกรยังสามารถใช้พันธุ์พืชดั้งเดิมและเมล็ดพันธุ์ที่มีอยู่ทั่วไปได้ตามปกติ.
สะ-เล-เต