หลังจากนักวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประสบความสำเร็จในการนำสาหร่ายไก+เตา มาแปรรูปแบบผลิตภัณฑ์ แผ่นมาส์กหน้าเสริมความงาม จนนักธุรกิจแดนโสมสนใจซื้อเทคโนโลยีไปผลิตเป็นสินค้า
ล่าสุด น.ส.รัตนาภรณ์ จันทร์ทิพย์ นักศึกษาปริญญาเอก สาขา สหวิทยาการเกษตร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประสบความสำเร็จในการนำสาหร่ายไกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทางเลือก “เจลลี่ สาหร่ายสุขภาพ” โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรมจาก สกว. และมี ผศ.ดร.ดวงพร อมรเลิศพิศาล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
“จากการศึกษาวิจัยเราพบว่า สาหร่ายไกมีโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ กากใยอาหาร กรดโฟลิค มีซีลีเนียมและสารกลุ่มโพลีฟีนอลิกที่เป็นองค์ ประกอบชนิดไอโซ-เคอซิทิน ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดระดับน้ำตาลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ลดภาวะความเครียด และอาการปวดบวมของบาด แผลในช่องปาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเป็นมะเร็งในช่องปาก
แต่เนื่องจากสาหร่ายไก มีเฉพาะในลำห้วยของป่าต้นน้ำในภาคเหนือเท่านั้น และเก็บได้ไม่นาน จึงเป็นได้แค่อาหารบำรุงสุขภาพพื้นบ้านสำหรับคนในพื้นที่เท่านั้น เราจึงมีความคิดที่จะนำสาหร่ายไกมาแปรรูปเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพสำหรับคนในเมือง ที่มีปัญหาเจ็บป่วยด้วยโรค ให้สามารถเก็บได้นานและขนส่งสะดวก ในที่สุดจึงได้ออกมาเป็นเจลลี่ เพราะสาหร่ายไกมีความเป็นเจลในตัวอยู่แล้ว”
...
สำหรับขั้นตอนการผลิต รัตนาภรณ์ เผยว่า เริ่มด้วยการนำสาหร่ายแห้งมาทำให้เข้มข้น และเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับคุณค่าสารอาหารในแต่ละวันได้ครบถ้วน ทีมวิจัยจึงศึกษาว่า ร่างกายแต่ละวันต้องการสารอาหารจากสาหร่ายในปริมาณเท่าไร แต่เมื่อนำไปทดสอบตลาด การตอบรับของผู้บริโภคไม่ดีนัก เพราะมีรสชาติขม
ทีมวิจัยจึงนำมาปรับสูตรให้เนื้อเจลลี่เจือจางพร้อมกับเติมสารให้ความหวานแทนน้ำตาลลงไป ครั้งนี้กลุ่มผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็ก วัยรุ่นและคนทำงานให้การตอบรับมากขึ้น
นอกจากช่วยเพิ่มมูลค่าสาหร่ายไกจากอาหารชุมชนสู่อาหารคนเมือง ยังช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากการเก็บสาหร่ายจากธรรมชาติมาจำหน่าย โดยไม่ต้องลงทุนใดๆ.