การพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ เป้าหมายที่ทุกประเทศทั่วโลก ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะพัฒนาประเทศของตนเอง

และนำมาซึ่งหัวข้อการประชุมวิชาการนานาชาติ Bangkok Forum 2018 : “บูรณาการความรู้เพื่อความยั่งยืนทางสังคม” ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดประชุมวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในประเทศไทย โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ร่วมกับ มูลนิธิเกาหลีเพื่อการศึกษาขั้นสูง (Korea Foundation for Advanced
Studies) ระหว่างวันที่ 24-25 ต.ค.นี้ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการประชุมวิชาการและทรงแสดงปาฐกถาพิเศษ ในวันที่ 24 ต.ค. 2561 เวลา 09.00 น.ที่หอประชุมจุฬาฯ

ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำกับดูแลด้านยุทธศาสตร์ แผน และงบประมาณ เล่าถึงที่มาของการจัดการประชุมในครั้งนี้ว่า “วัตถุประสงค์หลักของการประชุมในครั้งนี้คือ การชูบทบาทของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้คำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” นั้น มีความหมายว่า มหาวิทยาลัยจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มได้เข้าถึงการศึกษา องค์ความรู้ งานวิจัยของมหาวิทยาลัย โดยไม่มีความเหลื่อมล้ำทั้งเรื่องเพศ อายุ สถานะ เป็นการพัฒนาที่เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งจุฬาฯจะขอเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบการเรียนการสอน การเข้าถึงความรู้ของประชาชนทั่วไปในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และต้องการสร้างความตระหนักให้กับมหาวิทยาลัยว่า การเข้าถึงความรู้เหล่านี้ ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนที่จะเข้าถึงได้”

...

“ยุทธศาสตร์ของจุฬาฯ มี 4 ประการคือ 1. การสร้างคน 2.การสร้างสรรค์ความรู้และนวัตกรรม 3.การสร้างเสริมสังคมไทย และ 4.การก้าวไกลในสังคมโลก โดยยึดหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยสร้างความสมดุลของ 3 สิ่ง สำคัญคือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่ง– แวดล้อม สิ่งที่เราทำคือ การสร้างบัณฑิตให้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อจะทำอะไรสักอย่างต้องคิดถึงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ประกอบกัน เช่น จะต้องไม่เร่งพัฒนาเศรษฐกิจด้านเดียวโดยไม่นึกถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะที่มหาวิทยาลัยก็จะสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม ทั้งต้องสร้างความตระหนักให้กับประชาชนถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนเช่นกัน ส่วนเรื่องการเสริมสร้างสังคม ก็จะเป็นการให้บริการสังคม โดยดำเนินการโครงการที่เรียกว่า CU Community Engagement ซึ่งก็คือการที่เรานำองค์ความรู้ งานวิจัย นวัตกรรมที่จุฬาฯมีไปช่วยชุมชนแก้ไขปัญหา โดยปัญหานั้นเป็นเรื่องที่ชุมชนต้องตระหนักรู้ด้วยตนเอง และการแก้ไขปัญหาก็ต้องคำนึงถึง 3 ด้านสำคัญทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน สำหรับการก้าวไกลสู่สังคมโลกนั้นเป็นเรื่องที่จุฬาฯดำเนินการอยู่แล้ว และการประชุมนานาชาติเช่นนี้ก็เป็นการประกาศเจตนารมณ์ให้ทุกภาคส่วนทั้งในประเทศ ในนานาชาติทราบถึงสิ่งที่จุฬาฯจะทำ โดยการประชุมครั้งนี้จะมีเอกอัครราชทูตประจำประเทศต่างๆที่ประจำอยู่ในประเทศไทย ตอบรับที่จะเข้าร่วมประชุมด้วยมากกว่า 20 ประเทศ” รองอธิการบดีจุฬาฯ ขยายความถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยไทยในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สำหรับไฮไลต์ของงานนั้น ศ.นพ.ดร.นรินทร์กล่าวว่า “เราจะได้รับฟังปาฐกถาพิเศษจาก สมเด็จพระ เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, การบรรยายโดยวิทยากรระดับนานาชาติ อาทิ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก บรรยายหัวข้อ “Future Governnance for Sustainable Asia”, Dr.Noeleen Heyzer ที่ปรึกษาระดับสูงของเลขาธิการสหประชาชาติด้านการระงับข้อพิพาทด้วยการไกล่เกลี่ย หัวข้อ “Towards an Inclusive and Sustainable ASEAN”, Dr.Hongjoo Hahm รักษาการผู้อำนวยการคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UNESAP) หัวข้อ “The Challenges of SDGs in the Asia Pacific Region” และวิทยากรที่จะมาบรรยายด้านความยั่งยืนทางสังคม อาทิ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร, ศ.สุริชัย หวันแก้ว, ดร.สมชัย จิตสุชน, นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ, รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล, ดร.ธร ปีติดล,ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา และ Prof.Jonathan Rigg เป็นต้น

ความคาดหวังจากการประชุมครั้งนี้ ศ.นพ.ดร.นรินทร์ กล่าวว่า “เราอยากให้ประชาชนทราบว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนที่จะเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องเร่งปรับตัว เปิดตัว ให้ทุกคนได้เข้าถึง เป็นมหาวิทยาลัยเปิดและเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น การเรียนออนไลน์ โดยไม่มีข้อจำกัด ด้านเพศ อายุ”

...

“ทีมการศึกษา” เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะประสบความสำเร็จได้จะต้องเป็นความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในสังคมไทยและสังคมโลก

และเราเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการที่สถาบันอุดมศึกษาจะเป็นผู้นำจุดประกายในการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงองค์ความรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

เพราะการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำคัญที่สุดคือ การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง.

ทีมการศึกษา